ทุนนิยมเติบโตขึ้น : ชนบทอ่อนแอลง

ข่าวทั่วไป Tuesday October 12, 2004 15:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--วช.
“ภูมิปัญญาความรู้ของมนุษย์” มิได้เกิดขึ้นลอย ๆ หากแต่เป็นสิ่งที่ต้องก่อสร้างลงหลักปักฐานจากภายในระบบนิเวศท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งมนุษย์ต้องปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศ ด้วยเหตุนี้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ นายยศ สันตสมบัติ จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และศูนย์ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการวิจัยเรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยภูมิปัญญาหรือองค์ความรู้ท้องถิ่นเกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพกับคนและชุมชน ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือตอนบน เช่น ม้ง (แม้ว), อาข่า (อีก้อ), ลีซอ เมี่ยน (เย้า), ไทลื้อ ยอง ไทใหญ่ เป็นต้น เพื่อนำเสนอรูปแบบการใช้ประโยชน์และการพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
ผลการวิจัยพบว่า ชนบทพื้นเมืองดังกล่าวข้างต้นมีวิถีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ที่สืบทอดต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน และได้มีการสั่งสมพัฒนาองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ การอนุรักษ์ การพัฒนาบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เช่น การทำไร่หมุนเวียนของชาวปกากะญอและชาวลัวะ ป่าชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างป่ากับชุมชนที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ ชนเผ่าต่าง ๆ สั่งสมภูมิปัญญาด้านพืช อาหาร สมุนไพร ยา คิดค้นระบบการจัดการดิน น้ำ ป่า ให้สอดคล้องกับระบบการผลิต ทำการปกปักษ์ รักษาธรรมชาติแวดล้อมเพื่อสร้างหลักประกันเกี่ยวกับความสมดุลของธรรมชาติแวดล้อม ซึ่งก่อให้เกิดความมั่นคงยั่งยืน มีวิธีคิด มุมมองทางวัฒนธรรมที่ให้ความเคารพแก่ตนเอง ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี เมื่อสภาวการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไป ทิศทางการพัฒนาของประเทศไทยได้แปรเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งทำให้สังคมชนบทถูกกลุ่มนายทุนนำแรงงาน และทรัพยากรธรรมชาติไปหล่อเลี้ยงภาคอุตสาหกรรมในเขตเมืองอย่างต่อเนื่อง ชนบทถูกทำให้อ่อนแอและยากจนลงเพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนคนชนบทจากเกษตรกรยากจนไปเป็นกรรมกรยากจนและแรงงานรับจ้างราคาถูกตามโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้วิถีการดำรงชีวิตของเกษตรกรตกต่ำลงโดยการกดขี่ตัวเองให้ทำงานหนักมากขึ้น และในเวลาเดียวกันต้องทำงานหลาย ๆ อย่าง กินให้น้อย ใช้จ่ายให้น้อยลง และนอกจากนี้ ยังข่มเหงธรรมชาติด้วยการรับจ้างนายทุนทำลายธรรมชาติเพื่อแลกกับรายได้ในรูปแบบอื่น ๆ ดังนั้นในการเรียนรู้ทุก ๆ อย่าง คนต้องเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาโดยเน้นการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น ชุมชนต้องมีระบบการจัดการทรัพยากรที่ดี ชุมชนต้องมีศักยภาพในการผลิต และมีศักยภาพในการกำหนดและจัดการชีวิตของตนเอง โดยต้องได้รับการสนับสนุนความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนต่าง ๆ ในประเทศไทย เปิดโอกาสให้ชุมชน
เข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยรัฐมีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนและกำกับดูแลร่วมกับชุมชน สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายและกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

แท็ก ระบบนิเวศ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ