กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--ไอแอมพีอาร์
หากตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า เทคโนโลยีทันสมัยต่างสูญหายไปหมดสิ้น รอบๆ ตัวเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง สิ่งแรกที่คุณจะทำคืออะไร? เหตุการณ์ข้างต้นหลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่จากเหตุภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในหลายทวีปทั่วโลก และทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ อาจเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกคนต้องเตรียมพร้อม!!!
ด้วยเหตุนี้ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หรือ มิวเซียมสยาม จึงได้ใช้ประเด็นฉุกเฉิน กระตุ้นให้เกิดการฉุกคิด ต่อยอดสู่การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ สนุกสนาน และเป็นประโยชน์ โดยการจัดงาน Night at the Museum III ตอน หิน เหล็ก ไฟ พร้อมจัดนิทรรศการประกอบกิจกรรมชุด หิน เหล็ก ไฟ เพื่อให้ลูกหลานไทยยุค 2012 ได้เรียนรู้เรื่องราวของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ บรรพบุรุษของชาวสุวรรณภูมิ ผู้สร้างอารยธรรมแรกเริ่ม และวิวัฒนาการเรื่อยมาจนกลายเป็นมนุษย์ในยุคปัจจุบัน
นางสาวปิยมาศ สุขพลับพลา นักจัดการความรู้ มิวเซียมสยาม ผู้ดำเนินโครงการ เปิดเผยว่า นับเป็นเวลาหลายศตวรรษที่มนุษย์ได้พยายามเรียนรู้ คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ เพื่อช่วยให้การดำเนินชีวิตสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และมีความเชื่อว่าสิ่งที่คิดค้นขึ้นได้คือเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีกลับเผยให้เห็นว่า มนุษย์รู้จักคิดค้นและใช้เทคโนโลยีมานานนับแสนปีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ แม้จะไม่ใช่เทคโนโลยีทันสมัยแบบที่ใช้ในปัจจุบัน แต่มนุษย์ดึกดำบรรพ์กลับเป็นผู้ที่เริ่มสร้างอารยธรรม คิดค้นและสร้างเทคโนโลยีพื้นฐานขึ้นจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในธรรมชาติทุกชนิด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้สามารถเอาชีวิตรอด
"นักโบราณคดีมีวิธีจัดแบ่งยุคของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์จากวัสดุที่ใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้เป็นหลัก เนื่องจากวิวัฒนาการสังคมแต่ละขั้นตอนเกิดขึ้นด้วยนวัตกรรมเหล่านี้ มนุษย์ยุคหินเรียนรู้การนำหินและกระดูกสัตว์มาทำเป็นอาวุธ เช่น มีด ขวาน หอก เพื่อออกไล่ล่าสัตว์มาเป็นอาหารและป้องกันอันตราย ต่อมามนุษย์ยุคโลหะพัฒนาเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และยังมีการสร้างสรรค์ศิลปะเพราะรู้จักนำทองแดงกับดีบุก หรือตะกั่วมาผสมกันจนกลายเป็นสำริด ในที่สุดมนุษย์ยุคเหล็กสามารถคิดค้นการถลุงเหล็กหล่อเพื่อใช้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้ ซึ่งถือว่าเป็นยุคก้าวหน้าที่สุดของมนุษย์โบราณ โดยเทคโนโลยีที่มนุษย์ค้นพบและได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโลกคือ ไฟ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยน ทำให้มนุษย์รู้จักการปรุงอาหาร ช่วยให้มีชีวิตรอดจากกลางคืนที่มืดมิด รอดพ้นอันตรายจากสัตว์ป่า และต่อยอดใช้เป็นปัจจัยในการพัฒนาอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้ในยุคต่างๆ ด้วย" นางสาวปิยะมาศ อธิบาย
แต่เรื่องราวการดำเนินชีวิตของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ผู้เป็นบรรพบุรุษของชาวสุวรรณภูมิ เต็มไปด้วยปริศนาและความมหัศจรรย์มากมาย ที่ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าในยุคที่ปราศจากไฟฟ้า ประปา สิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือสื่อสาร มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร และเหตุใดมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เป็นชาติพันธุ์บริสุทธิ์ จึงสามารถสร้างอารยธรรมและเทคโนโลยีพื้นฐานขึ้นมาได้ และหากวันหนึ่งโลกกลับตาลปัตรมีเหตุให้บรรยากาศกลับไปคล้ายเมื่อ 500,000 ปีก่อน มนุษย์ยุค 2012 จะสามารถเอาชีวิตรอดเหมือนบรรพบุรุษของเราได้หรือไม่?
งาน NIGHT AT THE MUSEUM III ตอน “หิน เหล็ก ไฟ” เป็นกิจกรรมใหญ่ประจำปี ภายในงานประกอบด้วยการแสดงแสง สี เสียง ผสมผสานเทคโนโลยีมัลติมีเดีย ในรูปแบบลานนิทานรอบกองไฟ จะพาผู้ชมย้อนอดีตไปพบกับวิถีชีวิต การเอาตัวรอด การค้นพบและวิวัฒนาการเทคโนโลยีพื้นฐาน ผ่านตัวละครผู้เฒ่าหัวหน้าเผ่าที่เป็นมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และเจ้าหนูจำไม โดยผู้ชมทุกเพศทุกวัยจะสนุกสนานไปกับเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในแง่มุมใหม่ๆ เกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ โดยมีนิทรรศการชุด หิน เหล็ก ไฟ ช่วยสนับสนุนให้เนื้อหาและองค์ความรู้จากลานนิทานเกิดความชัดเจนและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
"นอกจากความมหัศจรรย์แห่งวิถีชีวิตมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่ผู้ชมจะได้สัมผัส สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ยังมุ่งหวังให้ผู้ชมได้เกิดกระบวนการเรียนรู้และมีการพัฒนาต่อยอดทางความคิดสร้างสรรค์ โดยการนำองค์ความรู้ที่ได้รับนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะหากในวันหนึ่งที่สาธารณูปโภคทั้งระบบเกิดล่มสลาย ขาดแคลนไฟฟ้า พลังงาน อาหาร และการสื่อสารถูกตัดขาด มนุษย์อาจต้องกลับไปเรียนรู้วิธีใช้สิ่งปกติธรรมดา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพื้นฐานเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้มีชีวิตรอดได้" นักจัดการความรู้ มิวเซียมสยาม สรุป
งาน NIGHT AT THE MUSEUM III ตอน หิน เหล็ก ไฟ มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 14 ธ.ค. - 16 ธ.ค. ตั้งแต่เวลา 16.00 — 22.00 น. ภายในงานพบการเสวนาให้ความรู้เรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ การแสดง แสง สี เสียงประกอบเทคนิคพิเศษเต็มรูปแบบ ที่จะพาผู้ชมร่วมเดินทางย้อนเวลาไปพบกับต้นกำเนิดแห่งอารยธรรมมนุษย์ ท่ามกลางบรรยากาศลานนิทานรอบกองไฟในราตรีมืดมิด พร้อมเรียนรู้และเข้าใจในวิถีชีวิตของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างสนุกสนาน เช่น เรียนรู้การจุดไฟจากธรรมชาติ การทำอาวุธ การเขียนสีบนผนังถ้ำ และพบกับหลุมขุดค้นทางโบราณคดี รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย พร้อมเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ ได้จากนิทรรศการประกอบกิจกรรมชุด “หิน เหล็ก ไฟ” ณ ห้องตึกเก่าเล่าเรื่อง จนถึงวันที่ 31 ม.ค.2556 ณ มิวเซียมสยาม สนามไชย กรุงเทพฯ
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 02-225-2777 ต่อ 413,414 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan และ www.museumsiam.com