กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--เอแบคโพลล์
ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความสุขประเทศไทยกับความสำนึกรู้คุณแผ่นดิน ประจำเดือนพฤศจิกายน 2555: กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในพื้นที่ 18 จังหวัดของประเทศ
เนื่องจากความสุขของประชาชนในแต่ละสังคมขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างกัน ความสุขของประชาชนบางประเทศขึ้นอยู่กับวัตถุนิยมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ในขณะที่ความสุขของประชาชนในบางประเทศขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมจารีตประเพณีอันดีงามเป็นสำคัญ สำหรับสิ่งที่ทำให้ประชาชนคนไทยมีความสุขมีเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทยอยู่หลายประการ
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จึงได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง ความสุขประเทศไทยกับความสำนึกรู้คุณแผ่นดิน ประจำเดือนพฤศจิกายน 2555 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในพื้นที่ 18 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ราชบุรี อยุธยา สุพรรณบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ แพร่ นครสวรรค์ ขอนแก่น หนองคาย มหาสารคาม สุรินทร์ อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา นครศรีธรรมราช และยะลา จำนวนทั้งสิ้น 3,169 ตัวอย่าง โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน — 1 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกเขต/อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7
จากการวัดความสุขมวลรวมของประชาชนคนไทยภายในประเทศประจำเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ความสุขมวลรวมของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 5.79 คะแนนในเดือนกันยายน มาอยู่ที่ 7.40 และ 7.53 คะแนนในการสำรวจครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นระดับความสุขที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีค่าความสุขเกินกว่าครึ่งในทุกตัวชี้วัด โดยค่าสูงสุดอยู่ที่การเห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในชาติแสดงความจงรักภักดีอยู่ที่ 9.17 คะแนน รองลงมาคือ บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวอยู่ที่ 7.72 และสุขภาพใจอยู่ที่ 7.58
นอกจากนี้ ความสุขของประชาชนคนไทยเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนตุลาคมเกือบทุกตัวชี้วัดที่น่าสนใจคือ ภาพลักษณ์ของประเทศไทย คนไทย เด็กไทยในสายตาต่างชาติที่เพิ่มขึ้นจาก 6.03 คะแนนมาอยู่ที่ 6.51คะแนน เป็นผลมาจากการมาเยือนประเทศไทยของบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายเหวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีของประเทศจีน การชุมนุมทางการเมืองที่ไม่ลุกลามรุนแรงบานปลาย และภาพลักษณ์ดั้งเดิมของประเทศไทยที่ดีอยู่แล้วในสายตาของชาวต่างชาติในเรื่อง การดูแลความปลอดภัย การเก็บทรัพย์สินได้แล้วส่งคืนชาวต่างชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่รัฐบางพื้นที่ต่อปัญหาอาชญากรรมและการไม่มีน้ำใจของคนไทยบางคนต่อชาวต่างชาติยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย
ยิ่งไปกว่านั้น ความสุขของประชาชนต่อตัวชี้วัดทั้งเศรษฐกิจระดับครัวเรือนและเศรษฐกิจระดับประเทศเริ่มเพิ่มสูงขึ้นจาก 5.98 มาอยู่ที่ 6.21 และจาก 5.73 มาอยู่ที่ 5.94 ตามลำดับ เป็นผลมาจากโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีของประเทศไทยและนโยบายสาธารณะของรัฐบาลในเรื่องการเพิ่มรายได้ที่กลายเป็นความหวังทางจิตวิทยาและกระตุ้นพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน เช่น นโยบายค่าแรง 300 บาท นโยบายเงินเดือน 15,000 บาท รถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก และนโยบายจำนำข้าว เป็นต้น ในขณะที่นโยบายเดิมของรัฐบาลที่เคยทำมาในการส่งเสริมอาชีพระดับตำบล เช่น สินค้าโอท็อป เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและการไม่รู้จักกินไม่รู้จักใช้อย่างประหยัดของประชาชนเองยังคงเป็นตัวบั่นทอนความสุขของคนไทย
ดร.นพดล กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ ความสุขที่ลดลงของประชาชน ได้แก่ ความสุขต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชนลดลงจาก 7.03 มาอยู่ที่ 6.52 ความสุขต่อคุณภาพนักการเมืองและจริยธรรมของนักการเมืองลดลงจาก 5.24 มาอยู่ที่ 5.05 และความสุขต่อสถานการณ์ทางการเมืองโดยรวมลดลงจาก 5.17 มาอยู่ที่ 5.04 ตามลำดับ เป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ความแตกต่างทางความคิดทางการเมืองที่ชาวบ้านเล็งเห็นว่าอาจนำไปสู่ความรุนแรงบานปลาย และปัญหาคุณธรรมจริยธรรมทางการเมืองของนักการเมืองเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ตัวชี้วัดอีกประการหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ความสุขต่อคุณภาพโรงเรียนใกล้บ้านของผู้ตอบแบบสอบถามลดลงจาก 6.64 มาอยู่ที่ 6.23 เป็นผลมาจากปัญหาพื้นฐานที่สะสมมาเป็นเวลาช้านานในระบบการศึกษาไทยในหลายมิติ เช่น คุณภาพการบริหารจัดการด้านการศึกษา ปัญหาการกีดกันหรือการปิดกั้นโอกาสของเด็กและเยาวชนที่อยู่ใกล้โรงเรียนที่มีคุณภาพแต่ไม่มีโอกาสเข้าเรียน ปัญหาการเลือกปฏิบัติในชั้นเรียน ปัญหาคุณภาพการเรียนการสอน ปัญหาการใช้ความรุนแรงของทั้งครูและนักเรียน และคุณธรรมจริยธรรมของคุณครูที่มีไม่มากเพียงพอในการเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กนักเรียน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ ประชาชนทุกหมู่เหล่า ทั้งกลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาล กลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล และกลุ่มพลังเงียบ ต่างก็มีความสุขที่เห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันในการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ คือ 9.16 คะแนนในกลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาล 9.15 คะแนนในกลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล และ 9.18 คะแนนในกลุ่มพลังเงียบ ตามลำดับ และเมื่อศึกษาเจาะลึกกลุ่มประชาชนที่ถูกศึกษาพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ว่าสีใดก็ตามสามารถแยกแยะความจงรักภักดีออกได้จากอุดมการณ์ทางการเมือง และต้องการให้การเมืองเป็นเรื่องของการเมือง ส่วนความจงรักภักดีเป็นสิ่งที่ “คนไทย” ทุกคนตระหนักดี จึงอย่าดึงสถาบันหลักของชาติลงมาสู่ความขัดแย้งในหมู่ประชาชน
ผลสำรวจยังค้นพบ 5 อันดับแรกของรูปแบบสำนึกรู้คุณแผ่นดินที่ประชาชนตั้งใจจะทำเพื่อในหลวง (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) พบว่า ร้อยละ 94.8 ตั้งใจจะแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ร้อยละ 90.5 ตั้งใจจะประหยัด ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 77.8 ตั้งใจจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีไมตรีจิตต่อกัน ร้อยละ 68.9 ตั้งใจจะทำหน้าที่พลเมืองที่ดี และร้อยละ 65.3 ตั้งใจจะสำนึกถึงความเสียสละเลือดเนื้อของบรรพบุรุษเพื่อประเทศชาติ
นอกจากนี้ เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงเดือนแห่งความสุขที่ประชาชนรอคอย พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 41.3 ระบุเดือนธันวาคมหรือธันวามหาราช รองลงมาหรือร้อยละ 20.4 ระบุเดือนมกราคม ร้อยละ 19.1 ระบุเดือนเมษายน ร้อยละ 10.6 ระบุเดือนกุมภาพันธ์ และร้อยละ 8.6 ระบุเดือนอื่นๆ อาทิ เดือนสิงหาคม ตุลาคม และพฤษภาคม เป็นต้น
ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า คนไทยกำลังเข้าสู่โหมดแห่งความสุขที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นไปตลอดเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองความสุขประเทศไทยในเดือนธันวามหาราชและปีใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของประชาชนคนไทยภายในประเทศจนกล่าวได้ว่านี่คือ DNA ของความเป็นไทยที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ความกตัญญูต่อแผ่นดินที่ต้องช่วยกันปกปักษ์รักษาไม่ยอมให้ใครมาดัดแปลงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยได้
“จากการวิจัยที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่า สังคมไทยและประชาชนแต่ละคนจะอยู่รอดได้อย่างมีความสุขทุกสถานการณ์ ถ้าทุกคนสำนึกกตัญญูรู้คุณแผ่นดินทำตามหน้าที่พลเมืองที่ดี ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง ลดอคติที่มีต่อกัน และตระหนักว่าผลประโยชน์ของแต่ละคนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือ “ประเทศชาติต้องมาก่อนชุมชนหรือองค์กรของตนและผลประโยชน์ส่วนตัว” ดังนั้น การมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของทุกคนในชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยความรักความสามัคคี มีไมตรีจิตต่อกัน และยอมรับว่าทุกคนมีความผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้นเพื่อจะได้ช่วยกันแก้ไขความผิดพลาดบนพื้นฐานของความถูกต้องตามหลักธรรม หลักกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อ “ไม่” ให้คนอื่นๆ ทำผิดตามกันอย่างกว้างขวาง ผลที่ตามมาก็คือ ความสุขประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมั่นคงยั่งยืน” ดร.นพดล กรรณิกา กล่าว
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.4 เป็นชาย ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 5.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.4 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.8 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 22.1 อายุระหว่าง 40—49 ปี และร้อยละ 30.0 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 68.3 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 31.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 32.9 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 24.8 ระบุค้าขายธุรกิจส่วนตัว 12.0 ระบุอาชีพพนักงานบริษัท ร้อยละ 11.4 ระบุอาชีพข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.9 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 6.4 ระบุเป็นแม่บ้าน พ่อบ้าน เกษียณอายุ ร้อยละ 3.6 ระบุว่างงาน ไม่ได้ประกอบอาชีพ