กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--ทาทา มอเตอร์ส
นายอจิต เวนคาทารามาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทาทา มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วย คณะสื่อมวลชนสายยานยนต์ ขับรถ ทาทา ซีนอน ไจแอนท์ เฮฟวี ดิวตี้ บรรทุกเสารั้วปูน จำนวนกว่า 6 ตัน ไปบริจาคให้กับเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขาแผงม้า เพื่อนำไปสร้างแนวรั้วกั้นเขตสัตว์ป่า ไม่ให้ลงมาทำลายพืชผลของเกษตรกร ซึ่งเป็นการช่วยเหลือทั้งประชาชนไม่ให้สูญเสียพืชผลทางการเกษตร และช่วยไม่ให้สัตว์ป่าถูกผู้คนทำร้าย
“ผมมีความยินดีเป็นอย่างมากที่ ทาทา มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์ ให้กับ
ทั้งประชาชนและสัตว์ป่าในบริเวณเขาแผงม้า ช่วยให้เกษตรกรไม่สูญเสียผลผลิตทางการเกษตรและ
ได้ช่วยเหลือชีวิตของสัตว์ป่า ไม่ให้ถูกชาวบ้านทำร้าย นอกจากนี้เราจะพยายามตอบแทนสังคมในทุกๆด้าน
ที่เราจะสามารถทำได้ และผมก็ขอขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่าน ที่ให้ความร่วมมือช่วยเรานำเสารั้วปูนมาบริจาคให้กับเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขาแผงม้า ในครั้งนี้”
อุทยานเขาแผงม้า มีเนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ และเพิ่งได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2554 ที่ผ่านมานี้ อุทยานเขาแผงม้าเคยเป็นเขตป่าสมบูรณ์ แต่ถูกชาวบ้านรุกล้ำแผ้วถางไปทำไร่ จึงทำให้ทางมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ริเริ่มการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ 2537 เพื่อเป็นการยุติการทำไร่บนเขาแผงม้า จึงทำให้สัตว์ป่าบางส่วนจากเขาใหญ่ข้ามเข้ามาอยู่ในบริเวณเขาแผงม้ามากขึ้น ซึ่งมีทั้ง ควาย หมูป่า เก้ง กวางป่า โดยเฉพาะฝูงกระทิงที่มีจำนวนมากถึงประมาณ 200-250 ตัว และแพร่พันธุ์มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากจำนวนเสือโคร่งซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อ
เป็นนักล่าสัตว์ขนาดใหญ่ลดจำนวนลง อาหารของกระทิงตามทุ่งในเขาแผงม้าที่เคยเพียงพอ ก็มีปริมาณน้อยลง ทำให้กระทิงลงมาหาอาหารกินพืชผลทางตามไร่ของเกษตรกร บางครั้งลงมาทั้งฝูงก็ทำให้เกษตรกร ได้รับความเสียหายเป็นพื้นที่นับสิบไร่
เกษตรกรในบริเวณนั้น ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะทำร้ายสัตว์ป่าเหล่านี้ แต่ทำไปเพื่อปกป้องผลิตผลของตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีกระทิงเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ทั้งจากการถูกทำร้ายและจากการถูกของมีคมบาด จากการวิ่งลงมาตามพื้นที่ชุมชนจนเกิดเป็นแผลติดเชื้อและต้องเสียชีวิตไปในที่สุด
ทางเจ้าหน้าที่อุทยานจึงพยายามทั้งจัดการเพิ่มปริมาณทุ่งหญ้าและแหล่งน้ำบนเขาแผงม้า เพื่อให้กระทิงและสัตว์ป่าอื่นๆ มีอาหารที่สมบูรณ์มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ก่อสร้างแนวรั้วไฟฟ้า เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ลงมาทำลายพืชผลของเกษตรกรและเป็นการป้องกันชีวิตสัตว์เหล่านี้ด้วย ซึ่งแนวรั้วไฟฟ้าที่สร้างขึ้นนี้ กระแสไฟจะเป็นไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตสัตว์ และเป็นกระแสไฟแบบผลักออก ซึ่งกระแสไฟจะเตือนให้สัตว์ป่าชนิดต่างๆ ถอยออกจากแนวเขตที่กั้นกลับขึ้นไปบนเขา ปัจจุบันแนวรั้วไฟฟ้าเหล่านี้ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากงบประมาณในการสร้างไม่เพียงพอ และยังเหลือแนวรั้วไฟฟ้าที่ต้องกั้นสัตว์ป่าอีกประมาณ 10 กิโลเมตร