กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--Professional Healthcare
แพทย์เตือนประชาชนอย่าตื่นกลัวไข้หวัดนกมากเกินไป แต่ที่ต้องระวังมากกว่าคือโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ แพ้อากาศ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ โดยเฉพาะในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงขณะนี้ ไข้หวัดใหญ่สามารถระบาดได้อย่างรวดเร็ว หากรักษาไม่ทันหรือไม่ถูกวิธี อาจเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
รศ.นพ.พีรพันธ์ เจริญชาศรี หัวหน้าสาขาโรคจมูกและภูมิแพ้ รพ. ศิริราชพยาบาล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก กล่าวเตือนว่า ในช่วงปลายฝน ต้นหนาวขณะนี้ อากาศจะมีสภาพความชื้นสูงและค่อนข้างเย็น ส่งผลให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดภาวะการติดเชื้อในทางเดินหายใจ เชื้อที่สำคัญคือ ไวรัสและแบคทีเรีย รวมทั้ง ไข้หวัดนก ซึ่งยังไม่มีการยืนยันว่ามีการติดต่อจากคนสู่คน แต่มีการติดต่อได้ในคนที่สัมผัสน้ำลาย อุจจาระหรือปัสสาวะ ของไก่ นก หรือสัตว์ปีกอื่นๆ ที่เป็นโรค
นอกจากนี้สภาพอากาศที่ชื้นยังทำให้ปริมาณเชื้อราในอากาศสูงขึ้น ทำให้ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้วเกิดการแพ้เชื้อราและเกิดอาการตามอวัยวะต่างๆ เช่น เยื่อบุตาอักเสบทำให้คันตา ต้องขยี้ตา ตาแดง บางคนอาจมีอาการจมูกอักเสบ หอบหืดร่วมด้วย เชื้อรานี้จะพบได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน รวมทั้งช่วงนี้ต้นไม้เจริญงอกงามได้ดี จึงทำให้มีละอองเกสรกระจายอยู่ในอากาศจำนวนมาก ทำให้ผู้ที่เป็นโรคแพ้ละอองเกสรพืช มีอาการคัน จาม น้ำมูกไหล ไอ และหอบได้
สำหรับผู้ที่มีอาการไข้และเป็นหวัดในช่วงนี้ มักมีความกังวลว่าตนเองจะติดเชื้อไข้หวัดนกหรือไม่ เพราะไม่แน่ใจว่าอาการไข้หวัดที่ตนป็นนั้นแตกต่างจากไข้หวัดนกอย่างไร รศ.นพ.พีรพันธ์ แนะนำว่า อันดับแรกต้องไม่ตื่นตกใจมากเกินไป เพราะเชื้อของไข้หวัดแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ผู้ที่เป็นไข้หวัดธรรมดานั้น จะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว หนาวๆ ร้อนๆ มีอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล อาจมีอาการเจ็บคอร่วมด้วย และมีไข้ไม่สูง เป็นอยู่ 2-3 วันไข้จะหาย และอาการจะดีขึ้นภายใน 5-7 วัน แต่ในผู้ป่วยภูมิแพ้จะมีอาการรุนแรงขึ้น เพราะทำให้เป็นหวัดนานขึ้น และถ้านอนดึก พักผ่อนน้อย ภูมิต้านทานของร่างกายจะไม่ดี หรือถ้าเป็นในเด็กเล็กๆ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรือมีโรคเรื้อรังทางกายอื่นๆ เช่น โรคตับ โรคไต เบาหวาน จากที่มีอาการไข้หวัดธรรมดา จะมีอาการรุนแรงขึ้นได้
ส่วนไข้หวัดใหญ่นั้นเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ในประเทศไทยพบได้ตลอดปี ช่วงที่ระบาดสูงสุดคือระหว่างเดือนพฤษภาคมจนถึงพฤศจิกายน อาการที่พบได้มีตั้งแต่แค่เป็นหวัด หรือมากจนไปถึงหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบ มีอาการไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ น้ำมูกไหล คอและตาแดง บางรายมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ในรายที่เป็นรุนแรง จะมีอาการปอดอักเสบ ไข้สูง ไอ เหนื่อย และอาจมีอาการแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ เกิดปอดบวม จนถึงขั้นเสียชีวิต
ส่วนอาการของไข้หวัดนกในคนไม่แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่มากนัก ผู้ที่เป็นจะต้องมีประวัติสัมผัสหรือใกล้ชิดกับนก ไก่ หรือสัตว์ปีกชนิดต่างๆที่เป็นโรค โดยติดต่อผ่านทาง น้ำลาย, อุจจาระหรือปัสสาวะของสัตว์ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส มีอาการไอและหรือเจ็บคอร่วมด้วย แต่จะมีเยื่อตาแดงได้บ่อยกว่าในผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ และเกิดปอดอักเสบได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก
“สิ่งสำคัญคือต้องเฝ้าระวังและป้องกันตนเองจากไข้หวัดใหญ่ ซึ่งผู้ที่เสี่ยงติดไข้หวัดใหญ่แล้วเกิดอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทางผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และในช่วงอากาศที่ปรับเปลี่ยนขณะนี้ ต้องรักษาร่างกายให้อบอุ่น อย่านอนตากพัดลมหรือโดนเครื่องปรับอากาศโดยตรง ถ้ามีอาการของไข้หวัดควรหลีกเลี่ยงของเย็น และดื่มน้ำอุ่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการไปในที่แออัดผู้คนมากๆ เพราะมีโอกาสเกิดการติดเชื้อได้ง่าย ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 3-5 วัน ควรไปพบแพทย์ รวมทั้งรับประทานผักสด ผลไม้ หรือกินวิตามินให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ” รศ.นพ.พีรพันธ์ กล่าวแนะนำ
Professional Healthcare Co.,Ltd.
176 Praditmanutham Rd., Wangthonglang, Bangkok 10310
Tel. 0-2718-7470 Fax. 0-2718-7482--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--