กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--สพฉ.
สพฉ. จับมือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรภาคีเครือข่าย ลงนามบันทึกความร่วมมือการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่น ผุดชุดปฏิบัติการฉุกเฉินตำบลหรือชุดปฏิบัติการฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน ผ่านสายด่วน 1669ด้าน รองปลัด มท.ย้ำ เป้าหมายสูงสุดคือให้ประชาชนเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม
ที่ห้องปริ๊นซ์ บอลรูม 3 โรงแรมปรินซ์ พาเลช กรุงเทพมหานคร สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการดำเนินงาน และบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
โดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือของทั้ง 7 องค์กรในครั้งนี้นั้น ก็เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น สามารถดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นให้มีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินตำบลหรือชุดปฏิบัติการฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การให้ความรู้ การแจ้งเหตุด้วยหมายเลข 1669 การพัฒนาบุคลากร และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม โดยการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมของหน่วยงาน องค์กร และบุคคลในพื้นที่ โดยคำนึงถึงความจำเป็น และความเหมาะสม กับสถานะทางการเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับ โครงสร้างกลไกการจัดการและอภิบาลระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 26 เมษายน2554
ด้านนพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)กล่าวว่า ในการลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้นั้น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มีภาระหน้าที่ในการส่งเสริมการมีบทบาทตามความพร้อม ความเหมาะสม และความจำเป็นของประชาชนในท้องถิ่น โดยสนับสนุนและกำหนดหลักเกณฑ์ การดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ และการดำเนินงานกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินท้องถิ่นระดับจังหวัด เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ดำเนินงานระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถดำเนินงานบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือชีวิตประชาชนร่วมกันด้วย
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)กล่าวอีกว่า นอกจากนี้แล้ว เรายังจะสนับสนุนงบประมาณ เพื่อเป็นค่าชดเชยปฏิบัติการฉุกเฉิน เพื่อใช้ในการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ตามภารกิจที่ตกลงกันตามกรอบหรือมติที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.)กำหนด และจะดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาอันเกิดจากการดำเนินงานและการบริหารจัดการด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้ลุล่วงไปด้วยความรวดเร็ว ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่านอกจากกระทรวงมหาดไทยและสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติแล้ว กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ยัง จะช่วยหนุนการทำงานตามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ร่วมกันเพื่อให้ประชาชนได้รับ ผลประโยชน์จากการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมทั่ว ทุกภูมิภาคด้วย