ไขข้องใจเหตุใดรัฐบาลสอบตกด้านเศรษฐกิจคนอีสานยังให้สอบผ่านภาพรวมท้วมท้น

ข่าวทั่วไป Tuesday December 11, 2012 14:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--อีสานโพล อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง "เหตุใดรัฐบาลสอบตกด้านเศรษฐกิจคนอีสานยังให้สอบผ่านภาพรวมท้วมท้น” ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อไขข้อข้องใจว่าทำไมคนอีสานให้รัฐบาลสอบตกด้านเศรษฐกิจในหลายครั้งที่ผ่านมา แต่ยังให้รัฐบาลสอบผ่านด้วยสัดส่วนที่สูง โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6-7 ธันวาคม 2555 จากกลุ่มตัวอย่าง 758 คน ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ จากผลสำรวจ เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างว่า “ท่านคิดว่าสาเหตุใดที่ช่วงที่ผ่านมาคนอีสานประเมินให้รัฐบาลสอบตกด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี (ผ่านเพียงร้อยละ 46.8) แต่กลับให้รัฐบาลสอบผ่านโดยภาพรวมสูงถึงร้อยละ 81.0” ซึ่งสองเหตุผลหลักที่ใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 27.0 เห็นว่าโดยรวมรัฐบาลรัฐบาลทำงานได้ดีแล้ว แม้จะแก้ปัญหาเรื่องปากท้องยังไม่เห็นผล และร้อยละ 26.9 เห็นว่าคนอีสานชื่นชอบพรรคเพื่อไทยมาก แต่ต้องการส่งสัญญาณให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนโดยเร็ว ตามมาด้วยร้อยละ 19.5 เห็นว่าคนอีสานต้องการแสดงให้เห็นว่าชื่นชอบพรรคเพื่อไทยมาก และต้องการส่งสัญญาณให้ม็อบเสธ.อ้ายรู้ว่าคนอีสานไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม ร้อยละ 14.2 มองว่าว่าไม่ว่าโดยภาพรวมรัฐบาลจะบริหารแย่แค่ไหน คนอีสานก็จะให้สอบผ่านเสมอ และร้อยละ 11.3 เห็นว่า นายกยิ่งลักษณ์บริหารงานภาพรวมผ่าน แต่รัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจผลงานไม่ผ่าน โดยมีเพียงร้อยละ 0.9 ที่ไม่ทราบสาเหตุหรือไม่แสดงความคิดเห็น “จากผลการสำรวจผลงานรัฐบาล 2 ครั้งที่ผ่านมา รัฐบาลได้คะแนนด้านเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีไม่ถึงครึ่ง คือ ร้อยละ 47.1 ในช่วงสำรวจ ก.ค.-ส.ค. และร้อยละ 46.8 ในช่วงสำรวจ ก.ย.-ต.ค. แต่คนอีสานกลับประเมินให้สอบผ่านภาพรวมด้วยคะแนนที่สูง คือ ร้อยละ 75.1 ในช่วงสำรวจ ก.ค.-ส.ค. และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 81.0 ในช่วงสำรวจ ก.ย.-ต.ค. ซึ่งทำให้อนุมานจากผลสำรวจได้ว่าคนอีสานชื่นชอบพรรคเพื่อไทยและนายกยิ่งลักษณ์เป็นอย่างมากและเห็นว่ารัฐบาลบริหารประเทศโดยภาพรวมในเกณฑ์ที่ดีอยู่ นอกจากนี้การชุมนุมของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ก็มีผลให้คนอีสานบางส่วนส่งสัญญาณปกป้องรัฐบาลโดยการประเมินให้รัฐบาลผ่านโดยภาพรวมเช่นกัน ขณะที่การจัดการปัญหาเศรษฐกิจแม้จะแย่แต่คนอีสานยังพอทนได้ แต่อย่างไรก็ตามหากปัญหาเศรษฐกิจปากท้องเรื้อรังไม่ได้รับการแก้ไขจนทนไม่ไหว เชื่อว่าคนอีสานจะส่งสัญญาณเตือนแน่นอน” ดร.สุทิน กล่าวตอนท้าย หมายเหตุ: นอกเหนือจากผลสำรวจ ซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้ว ความคิดเห็นอื่นๆ ในบทความนี้ เป็นความเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย เพศหญิง ร้อยละ 51.8 เพศชาย ร้อยละ 48.2 ส่วนใหญ่อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 40.1 รองลงมาอายุ 46-55 ปี ร้อยละ 26.9 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 20.1 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 5.0 และอายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 7.9 โดยอาศัยอยู่ในเขตเทศบาล (เขตเมือง) ร้อยละ 30.5 และอยู่นอกเขตเทศบาล (เขตชนบท) ร้อยละ 68.5 ส่วนระดับการศึกษาส่วนใหญ่จบประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 33.6 รองลงมามัธยมปลาย/ระดับปวช. ร้อยละ 21.0 มัธยมต้น ร้อยละ 20.6 ปริญญาตรี ร้อยละ 14.1 อนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ 9.9 ปริญญาโทและเอก ร้อยละ 0.8 ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมร้อยละ 41.2 รองลงมาพนักงานบริษัทเอกชนร้อยละ 15.3 ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัวร้อยละ 13.5 อาชีพรับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงานร้อยละ 11.2 รับราชการ/รัฐวิสาหกิจร้อยละ 9.6 อาชีพพ่อบ้าน/แม่บ้านร้อยละ 5.9 นักเรียน/นักศึกษาร้อยละ 2.8 และอาชีพอื่นๆ ร้อยละ 0.5 ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่รายได้อยู่ที่ 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 40.8 รองลงมารายได้ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 26.0 รายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 17.7 รายได้ 15.001-20,000 บาท ร้อยละ 9.9 รายได้ 20,001-40,000 บาท ร้อยละ 5.0 และมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 0.7

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ