กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ 3-7 ธ.ค. น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับตัวลดลง 1.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 106.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 108.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 87.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 3.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 118.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 0.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 125.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวของยุโรปบ่งชี้ถึงปัญหาหนี้สินที่ไม่ดีขึ้น สำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) รายงานอัตราการว่างงานเดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 11.7% สูงสุดตั้งแต่สหภาพยุโรปก่อตั้งในปี พ.ศ. 2542 โดยมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 173,000 ราย รวมทั้งหมด 19 ล้านราย อีกทั้งผู้บริโภคในยุโรปลดการใช้จ่ายในเดือน ต.ค. 55 ลง 1.2% จากเดือนก่อนซึ่งเป็นการปรับลดลงระหว่างเดือนสูงสุดในรอบ 6 เดือนและลดจากปีก่อนถึง 3.6%โดยอัตราการว่างงานของฝรั่งเศส ไตรมาส 3/55 อยู่ที่ระดับ 10.3% คิดเป็น 3.01 ล้านคน ทั้งนี้ฝรั่งเศสมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นติดต่อกันนานกว่า 18 เดือน
- ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐฯ (Consumer Confidence Index) เดือน ธ.ค. 55 ลดลงสู่ระดับ 74.5 จุด จาก 82.6 จุดในเดือนก่อน
- รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของอิรักกล่าวท่อขนส่งน้ำมัน (800 KBD) จากแหล่งน้ำมัน Basra สู่เมือง Karbala เปิดดำเนินการในอาทิตย์ที่ผ่านมา ทั้งนี้อิรักกำลังดำเนินการสร้างท่อขนส่งน้ำมันจากอิรักสู่จอร์แดนซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 1 MMBD
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของคูเวตเดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 2.97 MMBD เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.04 MMBD
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยดัชนียอดขายบ้านมือสองของสหรัฐฯ เดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ 104.8 จุด เพิ่มขึ้น 5.2% (เดือน ก.ย. 55 เพิ่มขึ้น 0.4%) บ่งชี้การฟื้นตัวของตลาดบ้านที่ดีขึ้น ผู้บริโภคกล้าตัดสินใจซื้อเพราะเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งนี้ยอดสั่งซื้อของโรงงาน (Factory Orders) เดือน ต.ค. 55 เพิ่มขึ้น 0.8% (M-O-M) และ ดัชนีผู้จัดการจัดซื้อภาคบริการ (Non-Manufacturing PMI) เดือน พ.ย. 55 เพิ่มขึ้น 0.5 จุด (M-O-M) อยู่ที่ระดับ 54.7 จุด
- ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในเดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 5.69 MMBD เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3% และโรงกลั่นในจีนกลั่นน้ำมันดิบรวม 10.1 MMBD สูงขึ้นจากปีก่อน 9.1%
- ธนาคารกลางอังกฤษประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% แต่ไม่ขยายโครงการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 3.75 แสนล้านปอนด์เป็นไปตามความคาดหมายของนักนักวิเคราะห์
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนที่สูงขึ้นกอปรกับตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนส่งสัญญาณการฟื้นตัวทำให้จีนเป็นกลจักรขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยยอดส่งออกของจีนในเดือน พ.ย. 55 เพิ่มขึ้น 2.9% เทียบกับปีก่อน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 55 ขยายตัวที่ 10% ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลง 2.2% และยอดลงทุนในสินทรัพย์คงที่ของจีนเดือน ม.ค. - พ.ย. 55 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.7% ทั้งนี้รัฐบาลจีนมีนโยบายเกื้อหนุนเศรษฐกิจที่เน้นการเพิ่มอุปสงค์ภายในเพื่อลบผลกระทบต่อภาคส่งออกที่มีความเสี่ยงจากปัญหาทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ด้านปัจจัยทางการเมืองในอียิปต์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นระหว่างการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 15 ธ.ค.55 ส่วนการต่อสู้ในซีเรียเป็นประเด็นที่สหรัฐฯให้ความสนใจมากเพราะข่าวกรองระบุว่าฝ่ายรัฐบาลเตรียมนำอาวุธเคมีมาใช้ซึ่งสหรัฐฯประกาศพร้อมแทรกแซงทางทหารทันทีที่มีการใช้อาวุธดังกล่าว อย่างไรก็ตามความยืดเยื้อในการเจรจาเรื่อง Fiscal Cliff ในสหรัฐฯที่ใกล้ถึงกำหนดเวลาเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาซึ่งประธาน FED ระบุว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่มีขีดความสามารถในการรองรับวิกฤติที่มีวงเงินสูงถึง 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐได้ ในการประชุม OPEC วันที่ 12 ธ.ค. 55 นักวิเคราะห์คาดว่าการประชุมของ OPEC จะคงเพดานการผลิตน้ำมันดิบที่ 30 MMBD เนื่องจากราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และกรณีที่อุปสงค์น้ำมันลดลงในปีหน้าสมาชิกในกลุ่ม OPEC จะลดปริมาณการผลิตอย่างไม่เป็นทางการ ให้จับตามองการทดสอบจรวดของเกาหลีเหนือวันที่ 29 ธ.ค. ที่จะกระทบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ในสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 106.54 และ 109.96 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ WTI มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 84.51 และ 87.24 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล