กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--กสทช.
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ไม่ทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองของ กสทช. ที่ห้ามผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า (pre-paid) กำหนดระยะเวลาให้ผู้บริโภคเร่งใช้งาน รวมทั้งไม่ทุเลาการบังคับของ กสทช. กรณีมีคำสั่งปรับทางปกครองวันละ 100,000 บาทต่อผู้ให้บริการที่ฝ่าฝืน “หลอลี่” ระบุผู้ให้บริการมือถือทุกค่ายควรเคารพคำพิพากษาศาล โดยเร่งจ่ายค่าปรับและยุติการทำผิดกฎหมายเรื่องนี้ พร้อมทั้งชี้ว่า ในยุคของบริการ 3G จะต้องไม่มีการกำหนดระยะเวลาใช้บริการมือถือแบบเติมเงินอีกต่อไป
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดเผยว่า เมื่อประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้มีการพิพากษาในคดีที่บริษัท ทรูมูฟ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเลขาธิการ กสทช. และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) จากกรณีที่เลขาธิการ กสทช. มีคำสั่งกำหนดห้ามผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมกำหนดเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บเงินล่วงหน้า (pre-paid) และสั่งปรับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนในอัตราวันละ 100,000 บาท เพื่อขอให้ศาลกำหนดมาตรการและวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยศาลพิจาณาเห็นว่า คำสั่งของ เลขาธิการ กสทช.ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย คือข้อ 11 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และเมื่อผู้ฟ้องคดียังคงมีการกำหนดเงื่อนไขการให้บริการในลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด คำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองของเลขาธิการ กสทช. จึงเป็นมาตรการบังคับเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติตาม ซึ่งมีการใช้มาตรการลงโทษดังกล่าวกับผู้ประกอบการรายอื่นด้วย ดังนั้นหากมีการทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวตามที่ฟ้องก็จะก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม อันจะเป็นปัญหาและอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ
นายประวิทย์ให้รายละเอียดเกี่ยวกับคำศาลปกครองกลาง “โดยสรุปก็คือศาลมีคำสั่งยกคำขอตามคำฟ้องของทางทรูมูฟทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของสำนักงาน กสทช. และตามมติ กทค. รวมทั้งคำขอกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยศาลเห็นว่า หากในภายหลังศาลพิพากษาว่าคำสั่งของทางเลขาธิการ กสทช. หรือมติ กทค. ไม่ชอบ ผู้ฟ้องคดีก็ย่อมมีสิทธิได้รับชำระค่าปรับคืน ซึ่งไม่ใช่ความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง ตรงกันข้าม หากมีการกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยให้ระงับการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง กลับจะเป็นปัญหาและอุปสรรคแก่การบริหารงานของเลขาธิการ กสทช. และ กทค. ในการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบจากการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า”
กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังเปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า คำพิพากษาของศาลปกครองกลางยังชี้ด้วยว่า ข้อกำหนดตามข้อ 11 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 นั้นไม่ใช่บทบังคับในลักษณะเด็ดขาด หากแต่มีข้อยกเว้นให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมสามารถกำหนดระยะเวลาได้โดยขอรับความเห็นชอบเป็นการล่วงหน้าจาก กทช. หรือ กทค. ในปัจจุบัน ส่วนในประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า การไม่กำหนดระยะเวลาการใช้บริการทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องรับภาระต้นทุนในการให้บริการเป็นจำนวนมาก ศาลเห็นว่า แต่ในเมื่อผู้ฟ้องคดียังมีการกำหนดเงื่อนไขในลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ฟ้องคดีก็ย่อมได้รับประโยชน์จากเงินที่เหลืออยู่ของผู้ใช้บริการเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการใช้งาน
“จากคำสั่งของศาลปกครองนั้นจะเห็นได้ว่า ศาลเข้าใจในประเด็นปัญหาในเรื่องของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บเงินล่วงหน้าและการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ในเรื่องดังกล่าว ดังนั้นผมจึงอยากเรียกร้องให้ผู้ประกอบกิจการมือถือประเภทพรีเพดให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมาย อันจะส่งผลเป็นการให้ความยุติธรรมต่อผู้บริโภคด้วย โดยสมควรยกเลิกการกำหนดระยะเวลาเร่งใช้บริการโดยเร็ว และเร่งจ่ายค่าปรับทางปกครองตามคำสั่งของสำนักงาน กสทช. ด้วย ซึ่งหากผู้ประกอบการยังละเลย ก็เป็นหน้าที่ของเลขาธิการ กสทช. ที่จะต้องดำเนินการบังคับให้เป็นผล” กสทช. ประวิทย์ฝากเสียงเรียกร้องถึงผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่และเลขาธิการ กสทช. ไปพร้อมกัน
นอกจากนี้ กสทช. ประวิทย์ยังระบุว่า สำหรับการให้บริการในระบบ 3G นั้น เป็นที่ชัดเจนว่าจะต้องไม่มีการกำหนดระยะเวลาการใช้งานอีกต่อไป ทั้งนี้ตามที่มีกฎหมายห้ามไว้
“เนื่องจาก 3G เป็นบริการใหม่ที่ไม่เคยมีสัญญาบริการระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ใช้บริการมาก่อน และประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม ก็มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 แล้ว ดังนั้นจึงไม่อาจอ้างเรื่องข้อสัญญาเก่าเช่นเดียวกับบริการระบบ 2G ปัจจุบัน ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ กทค. จะต้องกำกับดูแลให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป รวมทั้งอยากฝากไปยังผู้ใช้บริการให้ทราบสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายนี้ด้วย เพื่อจะไม่ถูกเอาเปรียบอย่างไม่สมควร” กสทช. ประวิทย์กล่าวในที่สุด