กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “BBB+” จาก “BBB” โดยสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่จำหน่ายวัสดุและสินค้าเกี่ยวกับบ้านในชื่อ “โฮมโปร” ความสามารถในการคงอัตราเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิมให้อยู่ในระดับสูงพร้อมกับขยายสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็สะท้อนความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างต่ำของธุรกิจค้าปลีกเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น และผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงดำรงความเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่จำหน่ายวัสดุและสินค้าเกี่ยวกับบ้าน พร้อมทั้งยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยคาดว่าบริษัทจะยังคงพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและรักษาระดับการก่อหนี้ไว้ได้ในขณะที่มีการขยายสาขา
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทโฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ เป็นผู้นำตลาดธุรกิจศูนย์ค้าปลีกสมัยใหม่ที่จำหน่ายสินค้าและบริการเพื่อที่อยู่อาศัยแบบครบวงจรภายใต้ชื่อ “โฮมโปร” ซึ่งก่อตั้งในปี 2538 โดยกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ปัจจุบันผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทประกอบด้วย บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (29.99%) บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (21.34%) และ บริษัท อเมริกัน อินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด (5.18%) บริษัทจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับบ้านมากกว่า 60,000 รายการซึ่งครอบคลุมทั้งวัสดุก่อสร้าง สินค้าตกแต่ง อุปกรณ์และเครื่องมือ อุปกรณ์ไฟฟ้าและโคมไฟ อุปกรณ์ทำสวนและต้นไม้ เฟอร์นิเจอร์ และผลิตภัณฑ์เพื่อความบันเทิงภายในบ้าน เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าประเภทเจ้าของบ้านที่มีพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าด้วยตนเอง การนำเสนอสินค้าที่หลากหลายและรูปแบบการตกแต่งร้านที่สะดวกสบายทำให้ร้านค้าของบริษัทมีความแตกต่างจากร้านค้าปลีกที่ขายสินค้าเกี่ยวกับบ้านแบบดั้งเดิมทั่วไป ณ เดือนกันยายน 2547 บริษัทมีสาขารวมทั้งสิ้น 17 แห่ง และมีพื้นที่ขายรวม 105,300 ตารางเมตร (ตร.ม.) บริษัทยังคาดว่าจะเปิดสาขาเพิ่มอีก 1 แห่งที่หาดใหญ่ในเดือนตุลาคม และมีแผนการขยายกิจการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 30 สาขาภายในปี 2550 บริษัทมีอัตราการเติบโตของยอดขายเฉลี่ยสูงถึงประมาณปีละ 50% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 59% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 มาอยู่ที่ 4,599 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดสาขาใหม่และการเพิ่มขึ้นของยอดขายจากสาขาเดิม โดยยอดขายจากสาขาเดิมในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 เติบโตในระดับสูงถึงประมาณ 22% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2546 และความหลากหลายของสินค้าของบริษัท อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเติบโตจะต่ำลงเมื่อตลาดโดยรวมเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวและมีจำนวนร้านเปิดใหม่เพิ่มขึ้น
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในปี 2548 บริษัทโฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ มีแผนจะเปิดร้านค้ารูปแบบใหม่คือ “โฮมโปร วิลเลจ” ซึ่งจะประกอบด้วยร้านโฮมโปร ดิสเคาน์สโตร์ขนาดย่อม ศูนย์รวมความบันเทิง และพลาซ่าขนาดย่อม ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้ประจำจากค่าเช่าพื้นที่ ในปี 2548 บริษัทได้จัดหาที่ดินสำหรับสาขาใหม่ไว้แล้ว 3 แห่งคือ บางนา หัวหิน และเพชรเกษม-หนองแขม การขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ดีในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายในธุรกิจศูนย์ค้าปลีกสินค้าและบริการเพื่อที่อยู่อาศัยขยายสาขาเพิ่มขึ้นและปรับปรุงร้านค้าให้ทันสมัย อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบบริษัทกับ “โฮมเวิร์ค” ซึ่งจัดเป็นคู่แข่งโดยตรงแล้ว บริษัทมีจำนวนสาขาและพื้นที่ขายรวมมากกว่า 2 เท่า และมียอดขายในปี 2546 สูงกว่าถึง 6 เท่า
อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้รวมซึ่งปรับปรุงรายการเช่าดำเนินงานแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 6.51% ในปี 2545 เป็น 7.51% ในปี 2546 และเป็น 7.81% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 แต่ยังถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผลกำไรของธุรกิจอื่น อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมซึ่งปรับปรุงรายการเช่าดำเนินงานแล้วเพิ่มขึ้นจาก 23.18% ในปี 2545 เป็น 29.58% ในปี 2546 และเป็น 14.09% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 คาดว่าค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนจะยังคงอยู่ในระดับสูงไปอีกหลายปีเนื่องจากบริษัทมีแผนการขยายสาขาและการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม คณะผู้บริหารมีความตั้งใจที่จะดำรงนโยบายทางการเงินและควบคุมอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อทุนไว้ที่ระดับไม่เกิน 2 เท่า
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า แม้ว่าธุรกิจศูนย์ค้าปลีกจำหน่ายสินค้าและบริการเพื่อที่อยู่อาศัยจะมีความสัมพันธ์กับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่ก็มีความผันผวนที่ต่ำกว่าเนื่องจากในช่วงที่การขยายตัวของบ้านใหม่ชะลอตัวลงก็มักจะมีความต้องการซื้อสินค้า
เพื่อตกแต่งและซ่อมแซมบ้านเก่ามาชดเชย อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--