กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
ครั้งแรกในประเทศไทยที่ผู้ประกอบการมืออาชีพผู้เชี่ยวชาญได้รวมตัวก่อตั้งเป็นสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Thai Association Of Foreign Exchange หรือ TAFEX) องค์กรไม่มุ่งหวังผลกำไร นำโดย นางสาวชนาพร พูนทรัพย์หิรัญ นายกสมาคมฯเผยความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเร่งยกระดับบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและพัฒนาระเบียบการเงินที่เป็นอุปสรรคต่อการเปิดเสรีทางการเงิน ที่จะเกิดขึ้นกลางปี 2556 และการเตรียมเป็นศูนย์กลางการเงินในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)ปี 2559 และในอนาคตอันใกล้เตรียมปูทางให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมนานาชาติแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแห่งเอเซีย คาดอัตราการเติบโตของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราปี 2556 ราว 1-2%
นางสาวชนาพร พูนทรัพย์หิรัญ (Ms.Chanaporn Poonsuphirun) นายกสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (TAFEX) กล่าวว่า “ ในวิถีของโลกการเงินและการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในปัจจุบันและอนาคตยิ่งทวีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว พาณิชยกรรมของประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางการเงิน ธุรกิจอุตสาหกรรม โลจิสติกส์และคมนาคมขนส่ง ตลอดจนการเป็นครัวของโลกและการเป็นศูนย์กลางสุขภาพและการแพทย์ของภูมิภาคอาเซียนที่กำลังจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ซึ่งมีประชากรกว่า 600 ล้านคน เมื่อเร็วๆนี้เราได้ก่อตั้งสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Thai Association of Foreign Exchange-TAFEX) นับเป็นแห่งแรกของไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างพัฒนาความก้าวหน้าของบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของไทยสู่มาตรฐานสากลให้สามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการค้าและการเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ, เสริมสร้างองค์ความรู้ในวิชาชีพแก่บุคคลากรและองค์กรให้มีคุณภาพและสามารถแข่งขันได้, เสริมสร้างศักยภาพขีดความสามารถของประเทศไทยโดยให้ความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐในการปรับปรุงจุดอ่อนและแก้ไขอุปสรรคต่างๆให้สอดรับกับสถานะการณ์โลก นอกจากนี้สมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ(TAFEX) ยังประสานความร่วมมือกับองค์กรนานาประเทศในด้านวิชาการ ด้วย
นางสาวชนาพร พูนทรัพย์หิรัญ นายกสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (TAFEX) กล่าวว่าในจังหวะก้าวที่ประเทศไทยจะเปิดเสรีทางการเงิน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และสำนักงานป้องกันและปราบรามการฟอกเงิน(ปปง.) กำหนดไว้ในช่วงกลางปี2556 หากประเทศไทยไม่เร่งเตรียมตัวและยกระดับบริการแลกเปลี่ยนเงินตราที่เป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม ประเทศเราอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ขณะที่อีกหลายประเทศเขาก้าวหน้าไปไกลแล้ว ยกตัวอย่างประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าของการแลกเปลี่ยนเงินตรา เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ในหลักการเปิดเสรีบริการทางการเงิน คือ เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกเออีซีพัฒนาสาขาการเงินอย่างเป็นขั้นตอนและรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงทางการเงิน เศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก ประเทศใดมีความพร้อมเปิดเสรีสามารถเริ่มดำเนินการได้ก่อน สำหรับส่วนของประเทศไทย ได้ผูกพันที่จะเปิดตลาดบริการด้านการเงินภายใต้อาเซียนในปี2016 ได้แก่ 1)สาขาหลักทรัพย์ มีสาขาย่อยการค้าเพื่อบัญชีของตนเองหรือบัญชีของลูกค้า, การบริการสินทรัพย์ และการบริการชำระราคาและส่งมอบสำหรับสินทรัพย์ทางการเงิน 2) สาขาย่อยอื่นๆ ได้แก่ การให้คำปรึกษาและบริการเสริมอื่นๆด้านการให้บริการทางการเงิน
ส่วนประเด็นระเบียบและกฏหมายที่ประเทศไทยควรปรับแก้ไข ได้แก่ ระเบียบข้อห้ามแลกเปลี่ยนเงินตราได้ไม่เกิน 5,000 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ต่อครั้งการเดินทาง ซึ่งปัจจุบันไม่สอดคล้องกับสภาวะความเป็นจริง หรือการห้ามแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนอกสถานที่นั้น โลกแห่งบริการทางการเงินต้องเปลี่ยนแปลงและแข่งขันการให้บริการที่ดีแก่ลูกค้าและประชาชน
นางสาวชนาพร พูนทรัพย์หิรัญ นายกสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (TAFEX) กล่าวถึง มูลค่าตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Foreign Exchange ) ในประเทศไทย ปี2554 ประมาณ 1,100 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนจำนวนผู้ประกอบการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Money Changer)มีอยู่ประมาณ 1,217 ราย , มูลค่าตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในปี2555 คาดว่าจะเติบโตรวม 0.5 -1 % , ส่วนปีหน้า 2556 อัตราการเติบโตของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จะประมาณ 1 — 2 % ,
ทางสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (TAFEX) ได้วางแผนงานการพัฒนาในด้านต่างๆของปี 2556-2557 ได้แก่ เสริมสร้างสมาคมฯให้เป็นศูนย์กลางข้อมูลความรู้ด้านแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และเป็นศูนย์กลางของมวลสมาชิก โดย จัดคลังข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ,ขยายฐานสมาชิกของสมาคมฯ พัฒนาระบบสารสนเทศ TAFEX ที่ช่วยบริการงานแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยสมาคมฯ จัดเก็บค่าใช้บริการประจำปีจากสมาชิกผู้ใช้, โครงการธุรกิจคุณภาพ TAFEX Quality Money Exchanger โดยสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ(TAFEX)จะมอบป้ายนี้แก่ร้านค้าที่เข้าอบรมตามหลักสูตรธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราคุณภาพ และผ่านการตรวจสอบจากคณะอนุกรรมการธุรกิจคุณภาพ (Good Money Changer Practice)ทั้งในด้านอาคารสถานที่ ระบบจัดการที่ถูกต้องแม่นยำ บริการที่รวดเร็ว โปร่งใส นับเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ประชาชนผู้ใช้บริการอุ่นใจอีกทางหนึ่งด้วย “
สมาคมฯยังมีแผนจัดฝึกอบรมเสริมความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพ แก่มวลสมาชิก เพื่อส่งเสริมธุรกิจ บริการที่ก้าวหน้า ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลง เช่น หลักสูตรธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราคุณภาพ และธรรมาภิบาล (Good Money Changer Practice ,หลักสูตรในการตรวจสอบธนบัตรปลอม, ธนบัตรยกเลิก ,หลักสูตรเกี่ยวกับระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ, หลักสูตรด้านการตลาดและลูกค้าสัมพันธ์ นอกจากนี้เรายังเผยแพร่ข้อมูลความรู้สู่สมาชิกของสมาคมฯเกี่ยวกับ ข้อมูลธนบัตรออกใหม่, จุดสังเกตธนบัตรจริง,ข้อมูลธนบัตรยกเลิกและระยะเวลาสิ้นสุด ,ข้อมูลธนบัตรปลอมระบาด หรือ ฐานข้อมูลมิจฉาชีพ เป็นต้น รวมทั้งจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ ที่จำเป็นต่อการประกอบวิชาชีพ ให้แก่สมาชิกในราคาพิเศษ
สมาคมฯมีโครงการเสริมสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรต่างประเทศ ทั้งในภูมิภาคอาเซียน เอเชียและอื่นๆ และปูทางให้ประเทศไทยโดยสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพจัด งานประชุมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแห่งเอเซีย ( Asian Foreign Currency International Congress ) ก่อนการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้มีการประกาศเลื่อนเป็นวันที่ 1 มค 2559
นายกสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (TAFEX) กล่าวว่า “ สถานการณ์และแนวโน้มตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศปี 2555 และปี 2556 Electronic Money หรือรูปแบบทางการเงิน การแลกเปลี่ยนเงินด้วยระบบ electronic อย่างกว้างขวาง อาจส่งผลกระทบกับบริษัทในประเทศไทยบ้าง แต่เชื่อว่าการจับจ่ายใช้สอยของชาวต่างชาติที่จะเข้ามาในไทย ยังคงนิยมเป็นเงินสด เนื่องจากการใช้บัตร electronic มีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่า โฉมใหม่ของร้านค้าแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในอนาคต ควรเป็นร้านที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าได้ ความเสี่ยงน้อย มีมาตรฐานในการให้บริการ ส่วนความคืบหน้ากรณีการออกกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย นั้นทางวุฒิสภาได้เห็นชอบร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับแล้ว นับเป็นข่าวดีสำหรับคนไทย คาดว่าภายในเดือน ก.พ. 2556 ประเทศไทยจะประกาศใช้กฎหมาย 2 ฉบับนี้ซึ่งจะมีผลให้คณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF) ยกเลิกการขึ้นประเทศไทยเป็นประเทศเสี่ยงการฟอกเงิน จะช่วยให้พี่น้องประชาชนทำธุรกรรมกับต่างประเทศได้สะดวกขึ้น การค้าของไทยกับนานาประเทศจะได้เข้าสู่สภาวะปกติ และคงทำให้ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสดใสไปด้วย “