กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
หากพูดถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ เราคงจำแนกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ซอฟท์แลนดิ้ง (Soft Landing) หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไม่รุนแรงมากนัก กล่าวคือการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเรื่อยๆ อยู่ที่ประมาณ 6% ส่วนฮาร์ดแลนดิ้ง (Hard Landing) หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สาหัส ก็คือกรณีที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะดิ่งพรวดอย่างรวดเร็ว หรือค่อยๆ ดิ่งตัวและไปหยุดอยู่ที่ระดับศูนย์หรือสูงกว่าศูนย์เพียงเล็กน้อย
ในช่วงปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศจีนได้ชะลอตัวลงแบบซอฟท์แลนดิ้ง (soft landing) จะว่าไปแล้ว จีนรู้สึกเคยชินกับการที่เศรษฐกิจเติบโตและแข็งแกร่งตลอดช่วงศตวรรษที่ผ่านมาด้วยอัตราเลขสองหลักหรือใกล้เคียงมาโดยตลอด ในสุนทรพจน์ในการประชุมทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีเหวินเจียเป่าสรุปความสำเร็จต่างๆ ของจีนในช่วงทศวรรษที่มาผ่านมาได้อย่างน่าประทับใจ รวมทั้งกล่าวถึงเรื่องมาตรฐานการใช้ชีวิตของประชาชนจีนที่สูงขึ้นถึง 5 เท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในเมื่อจีนมีการเติบโตโดดเด่นต่อเนื่องเป็นเวลานานขนาดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจหากจีนจะต้องเผชิญกับการหยุดชะงักบ้าง นั่นเป็นเพราะเศรษฐกิจของจีนก็เป็นไปตามวัฏจักรเฉกเช่นประเทศอื่นๆ อีกทั้งการวางแผนนโยบายและกรอบการดำเนินงานของสถาบันการเงินต่างๆ กลับพัฒนาไม่ทันกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ดังนั้น คำถามที่เหมาะสำหรับจีนในเวลานี้ก็คือ “จีนจะเผชิญกับการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจเมื่อไหร่” และ “จีนจะรับมือกับมันอย่างไร”
โมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ของจีนนั้นใช้ไม่ได้ผลเสียแล้ว จีนต้องมีโมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบใหม่โดยเลิกพึ่งพาการลงทุนและการส่งออก และใช้การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทน ขณะนี้การลงทุนมีสัดส่วนมากกว่า 48% ของระบบเศรษฐกิจจีน ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนโดยเฉลี่ยของระบบเศรษฐกิจโลกซึ่งอยู่ที่ 22% ประเทศจีนเองต้องการลดระดับลงให้อยู่ที่ 38- 40% ซึ่งยังนับว่าสูงอยู่อันเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบเมืองใหญ่ (urbanisation) และพัฒนาให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง หากปริมาณการลงทุนลดลงเพียง 1 ใน 10 จะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงถึง 4.8% นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่คาดกันว่าจะไม่รุนแรงอาจกลายมาเป็นผลกระทบที่หนักกว่าที่คิด
สุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรีจีนได้เน้นย้ำไปที่ใจความหลักๆ นั่นก็คือนโยบายการคลังที่มัธยัสถ์ รอบคอบ และนโยบายทางการเงินเชิงรุก สาระสำคัญก็คืออย่าได้กังวลว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจนี้จะเลยเถิดจนควบคุมไม่ได้ เพราะรัฐบาลจะผ่อนปรนนโยบายเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจอ่อนแอจนเกินไป และอันที่จริงรัฐบาลจีนได้เริ่มผ่อนปรนนโยบายตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแล้ว
ส่วนคำถามที่ว่า “เศรษฐกิจจะชะลอตัวมากแค่ไหน” หลายเดือนที่ผ่านมา ความเห็นถูกแบ่งเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน กล่าวคือ ผู้ส่งออกต่างก็บ่นว่าได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ตลาดโลกที่อ่อนตัว ในทางตรงกันข้าม บริษัทที่ส่งสินค้าขายในประเทศจีนกลับไม่ได้รับผลกระทบ แต่เมื่อวิกฤตการเงินยุโรปมีความรุนแรงมากขึ้น ความอ่อนแอของผู้ส่งออกได้ขยายวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต อีกทั้งยังไปถ่วงการใช้จ่ายภายในประเทศ ชาวจีนจึงเชื่อมั่นในเศรษฐกิจน้อยลง อย่างไรก็ตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้ไม่รุนแรงเท่ากับเมื่อปี 2551 ที่แรงงานอพยพกว่า 30 ล้านคนต้องตกงาน เพราะในปีนี้มีการสร้างงานใหม่แล้วมากถึง 11 ล้านอัตรา
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในประเทศจีนจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จีนก็ยังต้องพยายามอีกมากเพื่อไล่ให้ทันประเทศผู้นำอื่นๆ ปัจจุบันรายได้ต่อหัวของประชากรจีนคิดเป็น 18% ของรายได้ต่อหัวประชากรของสหรัฐอเมริกา
ประเทศจีนยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องโครงสร้างการบริหาร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วยังอยู่ภายใต้การบัญชาการของรัฐบาลกลางในเมืองปักกิ่ง ไม่ต่างกับตอนที่ระบบเศรษฐกิจประเทศจีนยังมีขนาดเล็กอยู่ นอกจากนี้ ระบบการเงินของจีนเองก็ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดและมีข้อจำกัดใหญ่ๆ หลายประการ นั่นหมายความว่ากลไลการส่งผ่านน?โยบาย?การ?เงินของประเทศจีนไม่ได้มีความราบรื่นเหมือนกับของสหรัฐฯ และยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอน เช่น การเปลี่ยนแปลงผู้นำ บางทีอาจจะมีเรื่องให้แปลกใจหากจีนจะเริ่มใช้แผนแนวปฏิรูปมากขึ้นซึ่งเราก็คงต้องรอดูกันต่อไป
ส่วนประเด็นทางการทหารในทะเลจีนใต้และตะวันออกได้กลายมาเป็นประเด็นร้อนทางการทูต และการที่สหรัฐได้ส่งกองทัพเรือของตนไปประจำในพื้นที่ดังกล่าวก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขี้นไปอีก
เมื่อเรานำประเด็นร้อนเหล่านี้มาพิจารณาร่วมกับประเด็นความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจจีน ยิ่งทำให้ชัดเจนว่าเหตุใดจีนจึงประสบปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ แต่แม้ว่าเศรษฐกิจของจีนจะชะลอตัว ก็ไม่ได้หมายความว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนได้สิ้นสุดลงแล้ว เศรษฐกิจของจีนยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นเพียงแต่อาจมีการชะลอตัวเป็นพักๆ
ประเทศจีนไม่ใช่ประเทศแรกที่กำลังเข้าสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบใหม่ ซึ่งเป็นกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) การเลื่อนสถานะจากขั้นรายได้เฉลี่ยระดับต่ำไปสู่รายได้ระดับกลางนั้นเป็นเรื่องง่ายดาย เมื่อเทียบกับการเลื่อนขั้นไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบรายได้ระดับสูง ดังจะเห็นว่ามีประเทศเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการเลื่อนขั้นไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบรายได้ระดับสูงได้ และจีนก็จะเป็นประเทศหนึ่งที่ทำได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องง่าย