กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--เหมราชพัฒนาที่ดิน
หลังเหมราชซื้อที่ดินเพิ่มกว่า 9,000 ไร่ เพื่อเตรียมขยายนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทในระยะยาว ผู้บริหารเผยการพัฒนานิคมให้ยั่งยืนต้องดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป ผู้พัฒนานิคมต้องเตรียมโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการจัดการที่มีประสิทธิภาพไว้รองรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการเรื่องน้ำ อากาศ และการดูแลขยะจากโรงงาน
นายเดวิต นาร์โดน กรรมการผู้จัดการบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน(มหาชน) เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ภายหลังซื้อที่ดินเพิ่มกว่า 9,000 ไร่ ว่า บริษัทฯ ในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมมาตรฐานระดับโลกที่มีประสบการณ์กว่า 16 ปี เล็งเห็นว่าแนวทางในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในระยะยาวนั้น ผู้พัฒนาต้องเน้นการพัฒนาแบบยั่งยืน ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่งของบริษัทฯ คือ นิคมอุตสาหกรรมอิสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) นิคมอุตสาหกรรมตะวันออก(มาบตาพุด) และนิคมอุตสาหกรรมชลบุรี บริษัทฯ ได้มีการเตรียมโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและการจัดการที่มีประสิทธิภาพไว้รองรับ ทำให้นิคมฯ ทั้ง 3 แห่งประสบผลสำเร็จอย่างมาก ในการเป็นนิคมตัวอย่างด้านการประหยัดพลังงานและปลอดมลพิษ
นายวิวัฒน์ จิรัฐติกาลสกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงขั้นตอนพื้นฐานในการพัฒนาที่ดินของนิคมฯ ทั้ง 3 แห่งว่า
"ในการพัฒนาพื้นที่นิคมฯ ของบริษัททั้ง 3 แห่ง จะต้องมีการทำวิจัยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านศักยภาพ และเชิงจิตวิทยาสำหรับผู้ที่มาทำงานในนิคมและชุมชนโดยรอบ โดยเมื่อทำการศึกษาแล้วจะต้องวางระบบและการก่อสร้าง และดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือเหนือกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนน การวางระบบการใช้พลังงาน การวางระบบน้ำ เพื่อส่งให้โรงงานใช้ในกระบวนการผลิตและการจัดการกับน้ำเสียที่ออกจากกระบวนการดังกล่าว รวมทั้งการวางระเบียบและการติดตามดูแลในเรื่องของอากาศและควันจากโรงงานที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต ที่สำคัญ บริษัทมีระบบซ่อมบำรุงและดูแลรักษาที่ดี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกระบบจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาแก่โรงงานและชุมชนในระยะยาว" นายวิวัฒน์กล่าว
ในด้านการใช้พลังงานให้คุ้มค่าและการบำบัดน้ำเสีย เหมราชได้ดำเนินการเรื่องนี้ควบคู่กันไป โดยวางแผนให้นิคมฯ ทั้ง 3 แห่งเป็นนิคมตัวอย่างด้านการประหยัดพลังงาน มีการรณรงค์ให้โรงงานต่างๆ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด และยังได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียใหม่ที่เรียกว่า "ระบบบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ชนิดไหลตามแนวดิ่ง" ซึ่งบำบัดน้ำเสียได้กว่า 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มาใช้แทนระบบำบัดแบบสระเติมอากาศ (AL) ซึ่งต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าเครื่องเติมอากาศเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับระบบบำบัด คือ ประมาณ 0.33-1.4 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ระบบบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ดังกล่าว ใช้พลังงานไฟฟ้าเพียง 0.19 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งได้มีการพัฒนาเพื่อใช้ในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) อยู่ในขณะนี้ โดยสามารถช่วยลดค่าใช้ไฟฟ้าในนิคมฯ ลงได้ถึงเดือนละกว่าแสนบาท
ในส่วนของการกำจัดขยะจากโรงงาน มีบริษัทผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้บริการแก่ลูกค้าในนิคมฯ ทั้ง 3 แห่ง สำหรับขยะที่ไม่มีพิษจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการกำจัดกากของเสีย โดยเป็นหลุมฝังกลบที่ถูกสุขลักษณะ และได้รับการอนุมัติเห็นชอบในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยโรงงานจะไม่ได้รับอนุญาตให้เผาทำลายกากอุตสาหกรรมภายในนิคมฯ เนื่องจากจะเป็นสาเหตุให้เกิดควันพิษและส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมภายในนิคมฯ ส่วนขยะที่มีพิษนั้นจะถูกคัดแยกเพื่อนำไปกำจัดยังบริษัทกำจัดขยะที่อยู่ภายนอกนิคมเท่านั้น โดยกระบวนการการกำจัดขยะมีพิษจะถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
"นิคมอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแบบยั่งยืนจึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมของผู้ที่ทำงานในนิคมและชุมชนภายนอกเป็นสำคัญ" นายนาร์โดน กล่าว
นิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่งของ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ได้รับการรับรองการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ISO:14001 และรางวัลการจัดการสิ่งแวดล้อมดีเด่นจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี--จบ--
--อินโฟเควสท์ (กน/กภ)--