กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term rating) ของบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ Phatra ที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ที่ ‘F2(tha)’
อันดับเครดิตของ Phatra สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ สำหรับกลุ่มนักลงทุนสถาบันและกลุ่มนักลงทุนบุคคลรายใหญ่ (high-net-worth) และธุรกิจวานิชธนกิจ รวมทั้งระดับหนี้สินของบริษัทที่ยังคงอยู่ในระดับที่จัดการได้ อันดับเครดิตของบริษัทยังสะท้อนถึงสภาพคล่องที่ยังคงอยู่ในระดับพอเพียง แม้ว่าจะปรับตัวอ่อนแอลงบ้าง
อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงโดยรวมของ Phatra จากการที่บริษัทมีแผนที่จะขยายการลงทุนในธุรกิจการค้าหลักทรัพย์และการลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยเงินลงทุนของบริษัทมีสัดส่วนที่ 63% ของส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2555 (54% ณ สิ้นปี 2554) อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวน่าจะได้รับการปรับลดลงได้บางส่วนจากการที่ Phatra มีกลยุทธ์การป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุน รวมทั้งได้มีการกำหนดเกณฑ์การลงทุนต่างๆ เพื่อควบคุมความเสี่ยง ทั้งนี้ ฟิทช์จะยังคงติดตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของความเสี่ยงด้านการลงทุนและความผันผวนของผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง
การปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องของส่วนแบ่งการตลาดหรือระดับเงินทุน รวมทั้งการกระจายแหล่งที่มาของรายได้ที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ขยายการดำเนินงานไปในธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง น่าจะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตของ Phatra ในทางกลับกัน การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของสภาพคล่อง รวมทั้งการลดลงของผลกำไรหรือการผันผวนที่มากขึ้นของผลกำไร หรือการเพิ่มขึ้นของหนี้สินอย่างมีนัยสำคัญ อาจจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิต นอกจากนี้ การกระจายแหล่งที่มาของรายได้โดยการขยายการดำเนินงานไปในธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีบริษัท (Proprietary Trading) โดยไม่มีกลยุทธ์ในการควบคุมความเสี่ยงที่เหมาะสม อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยลบที่ส่งผลต่ออันดับเครดิต
Phatra น่าจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่าค่าเฉลี่ยของบริษัทในธุรกิจหลักทรัพย์ เนื่องจาก Phatra มีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักทรัพย์และวาณิชธนกิจ แม้ว่าผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกปี 2555 จะปรับตัวลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรวมแล้วแม้ว่าอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จะมีแรงกดดันให้ปรับตัวลดลง แต่คุณภาพของการบริการ รายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจ และการบริหารค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพของบริษัท น่าจะช่วยลดแรงกดดันดังกล่าวได้บ้างในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามด้วยลักษณะของธุรกิจที่ Phatra ดำเนินอยู่ ผลการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งรวมถึงระดับหนี้สิน น่าจะยังคงมีความอ่อนไหวต่อสภาวะตลาดหลักทรัพย์
ส่วนของผู้ถือหุ้นยังคงเป็นแหล่งเงินทุนหลักของบริษัท อย่างไรก็ตาม Phatra ได้มีระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้อนุพันธ์ (structure notes) แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอขายเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ลูกค้า อัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (net liquid capital ratio) หรือ NCR ของ Phatra ปรับตัวลดลงเป็น 33% ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2555 จาก 86% ณ สิ้นปี 2554 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของเจ้าหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์และหุ้นกู้อนุพันธ์ อย่างไรก็ตามอัตราส่วนดังกล่าวยังคงอยู่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำกำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ 7% อัตราส่วนเงินกอง ทุนสภาพคล่องสุทธิของบริษัทได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 50% ในเดือนพฤศจิกายน 2555 หลังจากที่บริษัทแม่ได้มีการชำระคืนเงินกู้ยืม ทั้งนี้ Phatra มีแผนที่จะรักษาระดับอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิที่ประมาณ 40% สินทรัพย์สภาพคล่อง ซึ่งส่วนใหญ่คือเงินสดและหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยังคงอยู่ในระดับพอเพียง โดยบริษัทมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินกู้ยืมที่ 155% ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2555
ฟิทช์คาดว่า Phatra จะมีการเพิ่มอัตราการสะสมกำไรเพื่อใช้เป็นเงินทุนในการขยายธุรกิจ โดยบริษัทมีแผนที่จะไม่จ่ายเงินปันผลในช่วง 2-3 ปี ข้างหน้า การควบรวมกิจการระหว่างบริษัทเงินทุนภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ Phatra Capital กับธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KK น่าจะส่งผลให้ KK เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักในด้านเงินทุนกับ Phatra Capital อัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ของ Phatra ปรับตัวลดลงอย่างมากเป็น 32% ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2555 (53% ณ สิ้นปี 2554) เนื่องจากลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามอัตราส่วนดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสอดคล้องกับอันดับเครดิตของบริษัท
Phatra มีแผนที่จะเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินของบริษัทให้กับฐานลูกค้าของ KK รวมทั้งจะขยายธุรกิจไปในธุรกิจตลาดตราสารหนี้ (debt capital market) บนฐานเงินกองทุนที่มีขนาดใหญ่กว่าของ KK แต่อย่างไรก็ตามแผนการสำหรับธุรกิจใหม่ดังกล่าวน่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งถึงจะสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่
Phatra ดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์มาตั้งแต่ปี 2517 หลังจากการปรับโครงสร้างธุรกิจในปี 2553 Phatra Capital ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ ได้ถูกก่อตั้งขึ้นและมีสัดส่วนการถือหุ้นใน Phatra ที่ 99.7% ในเดือนกันยายน 2555 Phatra Capital ได้ควบรวมกิจการกับ KK โดยผ่านการแลกเปลี่ยนหุ้น ดังนั้นปัจจุบัน KK จึงมีสัดส่วนการถือหุ้นใน Phatra Capital ที่ 99.9% และเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มและของ Phatra