กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--Noname IMC
พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุเสด็จประทานทุนการศึกษาและทรงเปิดงาน “15 ปีจีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน”ทรงห่วงใยพยาบาลชุมชนขาดแคลน รับสั่งให้กำลังใจผู้ปฎิบัติหน้าที่ในชนบท
“พยาบาล” เป็นหนึ่งในวิชาชีพที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการดูแลรักษาผู้ป่วย แต่ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน โดยปัจจุบันมีจำนวนพยาบาลทั้งหมดประมาณ 100,000 คน แต่ความต้องการกลับมีสูงถึง 135,000 คน ยังขาดแคลนอยู่มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งพยาบาลชุมชน ทั้งๆที่มีเยาวชนจำนวนมากอยากเป็นพยาบาลแต่มีปัญหาขาดแคลนทุนทรัพย์
โครงการ “จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน” เป็นทางออกหนึ่งที่เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนเยาวชนเหล่านี้ โดยบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ จีเอสเค ร่วมกับ สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2540 นับเป็นเวลาถึง 15 ปีแล้ว เพื่อมอบทุนการศึกษาช่วยเหลือเยาวชนที่ด้อยโอกาสในชนบทแต่มีความตั้งใจจริงและรักวิชาชีพพยาบาล
เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี โครงการ “จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน” ในปี 2555นี้ ทางโครงการฯได้จัดพิธีมอบทุนการศึกษารุ่นที่ 13 จำนวน 20 ทุน พร้อมจัดประชุมวิชาการ “15 ปี จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน” โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทรงเปิดงานและประทานทุนการศึกษาแก่นักศึกษาพยาบาลที่ได้รับทุน โดยมี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมควร หาญพัฒนชัยกูร ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก นายวิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท จีเอสเค พร้อมด้วยคณะกรรมการจัดงาน และพยาบาลจากทั่วประเทศกว่า 400 คน เฝ้ารับเสด็จ ณ อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ซ.ศูนย์วิจัย เมื่อเร็วๆนี้
ในโอกาสนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุทรงรับสั่งห่วงใยภาวะการขาดแคลนพยาบาลชุมชน ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหา พร้อมทรงรับสั่งให้กำลังใจแก่พยาบาลชุมชนในโครงการฯ ที่สำเร็จการศึกษาและปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ห่างไกล ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยัน อดทน และอยากให้กลับมาฟื้นฟูวิชาการและความรู้ด้านสาธารณสุขใหม่ๆบ้างเมื่อมีโอกาส
นพ.สมควร หาญพัฒนชัยกูร ผู้อำนวยการ สถาบันพระบรมราชชนก เปิดเผยว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่โครงการ “จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน” ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาถึง 15 ปีแล้ว เพราะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เราผลิตบัณฑิตพยาบาลและกลับไปทำงานพื่อชุมชนได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ห่างไกลยังคงมีอุปสรรคต่อการเข้าถึงระบบสุขภาพอย่างมาก จากที่อยู่อาศัยอยู่ห่างไกลศูนย์บริการสาธารณสุข ทำให้การบริการด้านสุขภาพยังคงไม่ทั่วถึง และเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่ง พยาบาลชุมชนนั้นมีความสำคัญมากในการพัฒนาสาธารณสุขระดับรากหญ้า ที่จะช่วยให้คนไทยในชนบทมีความเข้าใจและสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหากพยาบาลเป็นคนในท้องถิ่นเองก็จะมีความเข้าใจถึงปัญหาพื้นฐาน และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี อีกทั้งพยาบาลชุมชนยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาด้านอนามัยชุมชนเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นพ.สมควร กล่าว
นายวิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท จีเอสเค เปิดเผยว่า นับเป็นเวลาถึง 15 ปี ที่โครงการ “จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน” ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน โครงการนี้ตั้งขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภาวะการขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพในท้องถิ่นห่างไกล และประชาชนจำนวนมากยังประสพความยากต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาลในเมืองใหญ่ โดยตลอดระยะเวลา 15 ปี (ปี 2540-2555) โครงการฯได้มอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษาพยาบาลแล้ว 13 รุ่น ทั้งสิ้น 552 ราย โดยอยู่ระหว่างการศึกษา 40 ราย และสำเร็จการศึกษาเป็นพยาบาลวิชาชีพแล้ว 512 ราย ซึ่งพยาบาลเหล่านี้ได้ออกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และสำนักงานสาธารณสุข กว่า 150 แห่ง ในพื้นที่ 52 จังหวัดทั่วประเทศ ไปดูแลพี่น้องในชุมชนด้านสุขภาพอย่างใกล้ชิด ทำให้ชุมชนและคนในท้องถิ่นทุรกันดาร ได้รับการดูแลรักษาที่ดี มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนการเข้าถึงการมีสุขภาพดีของคนไทยได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น” นายวิริยะ กล่าว
นอกจากนี้ในปี 2555 ทางจีเอสเค สำนักงานใหญ่ ยังได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของโครงการนี้ จึงได้มอบเงินจำนวน 65,000 เหรียญยูโร (ประมาณ 2.7 ล้านบาท) เพื่อใช้ในการพัฒนาศักยภาพของพยาบาลชุมชนให้ต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชนต่อไป ดังนั้น สถาบันพระบรมราชชนก และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีในแต่ละภาค จึงจัดโครงการฝึกอบรม “15 ปี จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน” สัญจรไปในพื้นที่ต่างๆทั้ง 4 ภาค คือ ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงราย ภาคอีสาน ที่จังหวัดขอนแก่น ภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา และภาคกลางที่กรุงเทพฯ ซึ่งโครงการฝึกอบรมพยาบาลเพื่อชุมชนที่จัดขึ้นนี้ จะช่วยให้ผู้อบรมมีความเข้าใจในบทบาทพยาบาลกับการทำงานเพื่อชุมชนภายใต้จิตบริการ ที่ให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมการดูแลผู้ป่วยที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาชุมชน ทั้งยังทำให้รับรู้ถึงประสบการณ์การทำงานเพื่อชุมชนในพื้นที่ต่างๆ อย่างแท้จริง
น.ส.เกศิริรนทร์ โรจมณเทียร หรือ น้องเก๋ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 จากวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี เล่าว่า “ที่บ้านยากจนมาก ต้องไปอาศัยวัดอยู่กับคุณแม่ซึ่งป่วยเป็นโรคไตและความดันโลหิตสูง โดยมีหลวงตาเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ให้การอุปถัมภ์ ให้คุณแม่ทำงานในครัวของวัด แม่อยากให้เรียนพยาบาลเพราะจะได้ช่วยดูแลแม่ได้ หนูดีใจมากที่ได้รับทุนการศึกษาจากโครงการ จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน เพราะทุนนี้จะช่วยให้หนูเรียนได้อย่างมีความสุข และยังแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของแม่ได้ ซึ่งหนูจะตั้งใจเรียน เมื่อจบออกมาแล้วจะได้ดูแลแม่ที่ป่วย ได้ทำงานเพื่อสังคม และชุมชนที่หนูรัก โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุในชุมชนของหนู อยากให้พวกเขามีสุขภาพที่แข็งแรงค่ะ”
นายอภิสิทธิ์ ย้อยดวงชัย หรือ น้องโก้ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น บอกว่า “ผมภูมิใจมากที่ได้มาเรียนพยาบาล เพราะพยาบาลเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ได้ช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งมันทำให้เราอิ่มอกอิ่มใจที่ได้เห็นคนที่เราเหลือมีความสุข แต่ฐานะทางบ้านของผมไม่ค่อยจะสู้ดีนัก ต้องยืมค่าเรียนจากญาติๆ อยู่เสมอ เมื่อได้รับทุนการศึกษาจากโครงการ จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน ผมก็ดีใจและภูมิใจมาก เพราะทุนนี้จะช่วยผมในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของผมได้เป็นอย่างดี และผมสามารถเรียนได้อย่างสบายใจขึ้นด้วย ความเครียดน้อยลง ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องหยุดเรียนอีกต่อไป เมื่อเรียนจบผมจะได้กลับไปทำงานในชุมชนของผมที่จังหวัดสกลนคร ผมอยากจะช่วยเหลือให้คนในชุมชนของผมมีสุขภาพดี และมีความสุขครับ”
นางสาว อุมาพร ปัดดาห์ นักศึกษาพยาบาล ปี 1 จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่ หนึ่งในผู้ได้รับทุนการศึกษาโครงการ “จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน” รุ่นที่ 13 กล่าวว่า “รู้สึกดีใจมากที่ได้รับทุนจีเอสเคพยาบาลเพื่อชุมชน เนื่องจากครอบครัวของตนค่อนข้างยากจน ตนเป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่อายุ 4- 5 ขวบ ต้องอาศัยอยู่กับคุณตาคุณยายซึ่งมีอาชีพเป็นเกษตรกร มีรายได้จากการทำนาและทำไร่ข้าวโพด ตนมีความใฝ่ฝันอยากเป็นพยาบาลมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่สมัยเรียนประถม แต่ก็ไม่คิดว่าจะมีวันนี้ ตนอยากเป็นพยาบาลเพราะจะได้ช่วยดูแลสุขภาพของคุณตาคุณยาย ซึ่งอายุมากและสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง และการที่เราเป็นพยาบาลชุมชน ยังได้มีโอกาสกลับไปช่วยเหลือเรื่องสุขภาพของคนในชุมชนตัวเองอีกด้วย ซึ่งตนเป็นชาว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่นี่ยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เมื่อไม่สบายมักจะไม่ยอมไปโรงพยาบาล เพราะบ้านอยู่ห่างไกลตัวเมืองกว่า 20 กิโลเมตร โดยเฉพาะผู้สูงอายุ จะได้มีส่วนช่วยให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ขึ้นค่ะ”
นอกจากนี้ ยังมีพยาบาลรุ่นพี่ จากโครงการฯ ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ หลังจากเรียนจบและได้ปฏิบัติงานในท้องถิ่นของตนเอง
เริ่มต้นจากพี่คนโตของโครงการฯ นางญาดา ชุมนุมพร้อม พยาบาลในโครงการ “จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน” รุ่นที่ 1 ปี 2540 ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ที่ รพ.เชียงคำ จ.เชียงราย เล่าว่า “พ่อแม่ยากจน พ่ออยากให้เรียนพยาบาลจะได้ดูแลพ่อแม่และได้ช่วยเหลือผู้คน แต่ขัดสนด้านเงิน โชคดีที่มี “โอกาส” ได้ทุนจาก โครงการ จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน หลังเรียนจบก็ได้มาดูแลชุมชนบ้านเกิดและนำความรู้มาเผยแพร่ต่อ เพราะนอกจากงานพยาบาลแล้ว ดิฉันก็ยังมีโอกาสได้ ส่งตรงความรู้ด้านสุขภาพสู่ชุมชนผ่านรายการวิทยุ โดยเป็นวิทยากรจิตอาสาให้ความรู้กับประชาชนในรายการวิทยุของโรงพยาบาล ช่วง “ท่องโลกสุขภาพกับ รพ.เชียงคำ” ทุกวันอาทิตย์ 07.00-08.00 น. เพื่อให้ความรู้ด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยส่งตรงความรู้ถึงชุมชนได้เป็นอย่างดี...ต้องขอบคุณพ่อแม่ที่ชี้ทางที่ดีที่สุดในชีวิตให้ ขอบคุณครูอาจารย์ที่ชี้แนะ...ขอบคุณ โครงการ จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน ที่ให้โอกาสได้เป็นพยาบาลที่ดีจนทุกวันนี้”
นางสาวสิริจรรยา สงวนกัน พยาบาลเพื่อชุมชน รุ่นที่ 6 ของโครงการ จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน ปัจจุบันทำงานที่โรงพยาบาลสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เล่าว่า เราทำตามความฝันของแม่ด้วยการสอบเข้าเรียนพยาบาลและดิฉันก็ทำสำเร็จ...ภูมิใจที่เลือกเดินทางนี้ ที่ทำให้ได้รับโอกาสดีๆ จากโครงการ จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน จึงตั้งใจเรียน เพื่อจะได้กลับมาทำงานที่บ้านเกิด หลังจากเรียนจบ เริ่มทำงานในทีม Home healthcare ที่รพ.สังขละบุรี ไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเรื้อรังที่ไม่มาตรวจตามนัด รวมถึงผู้ป่วยที่พิการหรือที่มีปัญหาต่างๆ ตามชายแดนไทย-พม่า แรกๆ มีอุปสรรคด้านภาษา แต่ก็ได้ญาติ หรือผู้ป่วยด้วยกันช่วยเป็นล่ามให้...แม้จะต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา เราก็อยู่ร่วมกันในสังคมได้ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นภาพที่น่ารักหาดูได้ยาก ต่อมาได้เป็นสมาชิกของ พอ.สว. จึงมีโอกาเข้าถึงชุมชนห่างไกลมากขึ้น บางครั้งต้องใช้เฮลิคอปเตอร์เข้าไปพื้นที่ เพื่อเข้าดูแลคนป่วยที่ลี้ภัยเข้ามา จากเหตุปะทะของชนกลุ่มน้อย ทั้งระเบิด ทั้งเสียงปีน ดังระงม น่ากลัวเหมือนในละครที่เคยดู แต่เราก็ต้องพร้อมที่จะช่วยเหลืออยู่ทุกเวลา...วิชาชีพพยาบาลหล่อหลอมให้ดิฉันเข้มแข็ง แรงบันดาลใจคือการได้ช่วยเหลือสังคม มันคือความสุขและความภูมิใจ ที่ทำให้ดิฉันปฏิบัติงานต่อไปด้วยความตั้งใจ และไม่หยุดนิ่งที่จะหาความรู้
น.ส.เสาวคนธ์ บุญทองจันทร์ พยาบาลในโครงการ “จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน” รุ่นที่ 2 ปี 2541 ปัจจุบันเป็นพยาบาลประจำ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองปรือ อ.รัษฎา จ.ตรัง บอกว่า “จากเด็กบ้านนอกคนหนึ่งที่มีความฝันว่าจะได้เป็นพยาบาล จนมาในวันนี้ฝันเป็นจริงแล้ว ด้วยทุนการศึกษาจาก โครงการ จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน...การทำงานในชุมชนเป็นงานที่ท้าทาย เป็นงานที่สนุก เมื่อเราสนุกกับงานเราก็ไม่รู้สึกเบื่อ โดยจากประสบการณ์การทำงานในชุมชนมากว่า 10 ปี ทำให้เราเข้าใจคนในชุมชนมากขึ้น ซึ่งการทำงานในชุมชนจะประสบความสำเร็จได้ เราต้องได้ใจของคนในชุมชนก่อน ทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของคนในชุมชนมีการสร้างเครือข่ายสุขภาพ ทั้งอาสาสมัครสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยบุคคลเหล่านี้จะเป็นแกนนำสำคัญที่จะขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ...ความสุขของเราคือการได้ช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาเหล่านั้นหายจากความเจ็บป่วย มีความสุขที่ได้เห็นความพยายามของผู้ป่วยที่อยากจะหายเป็นปกติ...จากวันนี้ พรุ่งนี้ และวันต่อๆ ไป จะตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด เพื่อให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดี เป็นชุมชนพึ่งตนเองได้ และนำไปสู่ชุมชนที่ยั่งยืนต่อไป”