กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--ICT
เรื่อง “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกับพระพุทธศาสนา”
อาจารย์ชนะ รุ่งแสง นายกสภาวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก, กรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, ที่ปรึกษาสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ได้มอบเกียรติบัตรและให้โอวาทแก่ผู้เข้าร่วมการประชุมทางวิชาการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกันประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๕ เรื่อง “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกับพระพุทธศาสนา” หรือ ICT for All Symposium 2012 on “ICT and Buddhism” เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๑๒.๓๐ —๑๘.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ชั้น ๕ วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ถนนงามวงศ์วาน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี จัดโดย ชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน (ICT for All Club -- www.ictforall.org) และภาคีองค์กรร่วมจัด ได้แก่ สภาองค์กรพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย สมาคมพัฒนาผู้บริโภคไทย สมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย สภาพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง และสมาคมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ อาจารย์ชนะ รุ่งแสง ได้เมตตาบริจาคเงินสนับสนุนการจัดประชุมวิชาการดังกล่าวด้วย
ที่ประชุมวิชาการครั้งนี้ มีความเห็นร่วมกันว่าเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าเข้าถึงและเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางไปทั่วโลก ภายใต้บริบทและแนวโน้มของประชากรโลกที่จะใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ หรืออินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านเครื่องมือต่างๆ ทั้งเครืองคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดังนั้น ประเทศไทยควรใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก แต่การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าว ต้องเป็นไปอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์และเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ รวมทั้ง ไม่เป็นการบิดเบือนพระธรรม คำสอนของพระพุทธศาสนาตามพระไตรปิฏก
โดยมีข้อเสนอแนะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงและเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีดังนี้
๑. ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลกอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาเว็บไซต์ห้องสมุดพระพุทธศาสนาโลก (www.buddhist-elibrary.org) ให้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
๒. การฝึกอบรมแก่พระสงฆ์ สามเณร และผู้ที่สนใจโดยทั่วไป เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เพื่อการเข้าถึงและเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมถึงกำหนดแนวปฏิบัติในการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่เหมาะสม ถูกต้องตามพระธรรมวินัย สำหรับพระสงฆ์ สามเณร
๓. ส่งเสริมและสนับสนุนให้วัด สำนักสงฆ์ที่มีความพร้อมเป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน และเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาผ่านระบบ e-Learning รวมถึงจัดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมด้วย
๔. พัฒนา Course Ware หรือแอพพลิเคชันที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมะ สำหรับแท็บเล็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ เผยแพร่ในทุกระดับชั้นการศึกษา และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจ
๕. สนับสนุนให้วัดต่างๆ ทั่วประเทศ มีเว็บไซต์ของวัด เพื่อเป็นการสื่อสารสองทางกับประชาชน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้คนมีความใกล้ชิดธรรมะมากขึ้น ทั้งนี้ โดยภาครัฐควรเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนชื่อเว็บไซต์และการเช่าพื้นที่จัดเก็บข้อมูลของเว็บไซต์
๖. ควรมีองค์กรและผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานและตรวจสอบเนื้อหาของธรรมะที่เผยแพร่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะทางเว็บไซต์ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเนื้อหานั้น มีความถูกต้องตามพระไตรปิฎก
๗. สนับสนุนให้มีการแปลหนังสือธรรมะเป็นภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ แล้วนำขึ้นเผยแพร่ทางเว็บไซต์ หรือในรูปแบบ e-Book เพื่อให้ผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะชาวต่างประเทศสามารถเข้ามาศึกษาได้
เมื่อดำเนินการได้ดังนี้แล้ว ก็เชื่อได้ว่าเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่กับมนุษยชาติสืบต่อไป ดังพระสัมโมทนียถา เจ้าพระ
คุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ความสำคัญตอนหนึ่งว่า
“...ปัจจุบัน แม้ว่าจะได้มีการแปลหลักธรรมคำสอนออกเป็นภาษาต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ และมีการเผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ เป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก จนอาจกล่าวได้ว่ายุคนี้เป็นยุคที่ธรรมะไปไกล ไปถึงทุกประเทศทุกมุมโลก
แต่ทว่าความต้องการศึกษาค้นคว้าธรรมะ ยังไม่มีที่สิ้นสุด เห็นได้จากผลสำรวจของสมาคมบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตที่พบว่าตามโรงแรมและสถานพักผ่อนหย่อนใจแหล่งท่องเที่ยว สถานที่ติดต่อธุรกิจและการงานต่างๆ รวมถึงสถานที่สำคัญต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก และในประเทศไทยเองยังขาดแคลนสื่อธรรมะในการหลักธรรม เมื่อเทียบกับศาสนาอื่นๆ
ประเทศไทย ในฐานะเป็นประเทศชั้นนำที่เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเกิดการรวมตัวระหว่างเครือข่ายคณะสงฆ์และคฤหัสถ์เพื่อร่วมกันบริจาค ผลิตสื่อคำสอนและหลักธรรมคำสอนที่เข้าใจง่าย ไม่สลับซับซ้อนให้ปรากฏทุกหนทุกแห่งทั่วโลกอย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นภารกิจสำคัญที่จำเป็นเร่งด่วนที่สมควรผลักดันและสนับสนุนให้เป็นนโยบายของประเทศในการเป็นศูนย์กลางเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่ทุกภาคส่วนของประชาคมโลก...”