กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--ไอแอมพีอาร์
เพราะการเรียนรู้อย่างรื่นรมย์จะช่วยกระตุ้นให้เกิดทักษะการเรียนรู้ และความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นในงานมหกรรมประจำปีของ “มิวเซียมสยาม” ที่มีชื่อว่า Night at the Museum ตอน “หิน เหล็ก ไฟ” ในปีนี้จึงได้มีนำเทคนิคการแสดงรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีในเมืองไทยมาก่อน มาใช้ในการนำเสนอองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นความบันเทิงที่น่าติดตาม
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หรือ มิวเซียมสยาม จึงได้มอบหมายให้กลุ่มนักแสดงรุ่นใหม่ไฟแรง บีบี ดีว่า (BB Diva) ที่โด่งดังจากรายการ Thailand Got Talent ออกแบบการแสดงสุดล้ำสมัยในชื่อชุด “Night at the Museum 3D ตอน หิน เหล็ก ไฟ” ซึ่งเป็นการแสดงสื่อผสมโดยใช้จินตนาการ ผสานจินตลีลา และเทคนิค 3D Video Mapping เนรมิตเป็นโชว์สุดอลังการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของบรรพบุรุษชาวสุวรรณภูมิ ที่มีชีวิตอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่สนุกสนานครบรสให้แก่ทุกเพศทุกวัย
นายอานนท์ เจียตระกูล หัวหน้าทีมบีบี ดีว่า ผู้ออกแบบและสร้างสรรค์การแสดงในครั้งนี้เปิดเผยว่า ผลงานที่ผ่านมาของกลุ่มส่วนใหญ่มักเน้นความบันเทิงเป็นหลัก แต่สำหรับการแสดงชุด Night at the Museum 3D ครั้งนี้ จะเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ โดยการใช้ศิลปะแขนงต่างๆ มาผสมผสานเป็นโชว์ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้เด็กเกิดความเข้าใจและจดจำได้ กระตุ้นให้เกิดความอยากเรียนรู้ในเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เป็นรากเหง้าของตนเอง และปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการเข้าพิพิธภัณฑ์ว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่ออีกต่อไป
“บีบี ดีว่า มีเป้าหมายในการสร้างสรรค์การแสดงที่แปลกใหม่ มีเรื่องราวน่าติดตาม เพราะเราไม่ต้องการเป็นแค่แดนเซอร์ จึงได้คิดค้นการแสดงโชว์ชุดพิเศษแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน ด้วยการใช้ร่างกายเคลื่อนไหวเป็นจังหวะไปพร้อมฉากกราฟฟิคที่ฉายอยู่ด้านหลังเสมือนเป็นมิติเดียวกัน พร้อมใช้แสง สีและเสียงเป็นเครื่องมือกล่อมให้ผู้ชมรู้สึกเกิดอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องราวภาพ ซึ่งผู้ชมโดยเฉพาะเด็กๆ จะรู้สึกสนุก ลุ้นระทึกจนไม่อาจคลาดสายตาได้แม้เสี้ยววินาที” นายอานนท์อธิบาย
นายณัฐรัตน์ แก้วระวัง รับบทมนุษย์โบราณที่ต้องสู้กับเสือเขี้ยวดาบ เผยถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานว่า เกิดจากการได้เห็นรูปแบบโชว์ในคอนเสิร์ตที่บียอนเซ่นักร้องชื่อดัง มีการเล่นกับภาพกราฟฟิคด้านหลัง สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก และยังเป็นที่กล่าวถึงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แม้คอนเสิร์ตจะจบไปนานแล้วก็ตาม และโชว์ในรูปแบบเดียวกันก็เป็นที่โด่งดังมากในประเทศญี่ปุ่น โดยรู้จักกันในชื่อ 3D Video Mapping
“3D Video Mapping เป็นการฉายภาพจากโปรเจคเตอร์ลงบนวัตถุที่วางอยู่นิ่งๆ ทำให้วัตถุดูเหมือนมีชีวิต ซึ่งเป็นเทคนิคที่นิยมใช้ในต่างประเทศมานานหลายปีแล้ว บีบี ดีว่า จึงเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์โชว์ที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร โดยการนำเทคนิคดังกล่าวมาฉายภาพเป็นพื้นฉาก และฉายลงบนร่างกายที่กำลังเคลื่อนไหวตามจังหวะเพลง ซึ่งถือเป็นเทคนิคที่ไม่เคยใช้มาก่อน” นายณัฐรัตน์เล่า
นายวิฑูรย์ พนาลิกุล รับบทหัวหน้าเผ่าโบราณ อธิบายว่า Night at the Museum 3D ตอน หิน เหล็ก ไฟ เป็นการแสดงศิลปะผสมที่ทีมได้วางแผนใช้การเต้น การแสดงละคร ผสานเข้ากับเทคนิค 3D Video Mapping นำเสนอในรูปแบบการเล่านิทาน เพื่อสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายที่ส่วนใหญ่เป็นเด็ก ได้รู้ถึงจุดกำเนิดของหิน เหล็ก ไฟ และความชาญฉลาดของมนุษย์ที่รู้จักนำทั้ง 3 สิ่งมาใช้ประโยชน์ รวมถึงการก่อกำเนิดอารยธรรมที่สืบเนื่องจากการค้นพบไฟด้วย
“การแสดงของบีบี ดีว่า มักเน้นการสื่อสารภาษากายเป็นหลัก แต่ในเมื่อกลุ่มเป้าหมายที่จะมาชมการแสดงคือเด็กและเยาวชน การใช้ภาษากายอย่างเดียวก็ไม่อาจสร้างความเข้าใจในเนื้อหาได้อย่างเต็มที่ จึงต้องใช้ศิลปะการแสดง และเทคนิคพิเศษต่างๆ มาผสมผสานกัน เด็กๆ จะได้พบกับความตื่นเต้นเร้าใจตลอด 30 นาที อาทิ ฉากที่มนุษย์โบราณสู้กับเสือเขี้ยวดาบ และค้นพบไฟที่เปรียบเสมือนของขวัญจากเทพเจ้าเป็นต้น” นายวิฑูรย์เผย
ทางด้าน นางจิระนันท์ พิตรปรีชา ที่ปรึกษา สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวว่า งาน Night at the Museum เป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยนำประเด็นที่เปิดไว้ในนิทรรศการถาวรชุด เรียงความประเทศไทย มาขยายความต่อ กระตุ้นให้ผู้ชมได้ฝึกทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง
“กลุ่มเป้าหมายของมิวเซียมสยามคือคนทุกเพศทุกวัย โดยมีเป้าหมายหลักคือเด็กและเยาวชน การแสดงสื่อผสมและกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน Night at the Museum จะทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนานมีความสุข ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้และจดจำสิ่งรอบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหัวข้อที่นำเสนอในครั้งนี้คือ หิน เหล็ก ไฟ เด็กๆ จะเข้าใจถึงเรื่องราวของผู้คนในดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สำหรับผู้ที่มาชมงานเป็นครอบครัวก็จะมีเรื่องราวสนุกๆ กลับไปพูดคุยกันต่อ ช่วยให้เกิดการต่อยอดทางความคิดและองค์ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น” นางจิระนันท์กล่าวสรุป
งาน NIGHT AT THE MUSEUM III ตอน หิน เหล็ก ไฟ มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 14 ธ.ค. - 16 ธ.ค. ตั้งแต่เวลา 16.00 — 22.00 น. ภายในงานพบการเสวนาให้ความรู้เรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ การแสดง แสง สี เสียงประกอบเทคนิคพิเศษเต็มรูปแบบ ที่จะพาผู้ชมร่วมเดินทางย้อนเวลาไปพบกับต้นกำเนิดแห่งอารยธรรมมนุษย์ ท่ามกลางบรรยากาศลานนิทานรอบกองไฟในราตรีมืดมิด พร้อมเรียนรู้และเข้าใจในวิถีชีวิตของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างสนุกสนาน เช่น เรียนรู้การจุดไฟจากธรรมชาติ การทำอาวุธ การเขียนสีบนผนังถ้ำ และพบกับหลุมขุดค้นทางโบราณคดี รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย พร้อมเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ ได้จากนิทรรศการประกอบกิจกรรมชุด “หิน เหล็ก ไฟ” ณ ห้องตึกเก่าเล่าเรื่อง จนถึงวันที่ 31 ม.ค.2556 ณ มิวเซียมสยาม สนามไชย กรุงเทพฯ