ความเป็นมาของการรักษาโรคสะเก็ดเงิน

ข่าวทั่วไป Monday October 18, 2004 11:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์
ข้อมูลโดยย่อ
๑. โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรังซึ่งต้องการการรักษาอย่างต่อเนื่อง
๒. ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด
๓. วิธีการรักษาที่แตกต่างกันสามารถบรรเทาอาการของโรคลงได้หรือทำให้อาการหายไปได้ชั่วคราว แต่ไม่มีวิธีการรักษาวิธีใดวิธีหนึ่ง ที่จะได้ผลอย่างถาวรกับคนไข้ทุกคน
๔. ในปัจจุบัน มีการนำวิธีการรักษาทางชีวภาพหลายแบบเข้ามาใช้ และมีการพัฒนาวิธีรักษาแบบดั้งเดิมไปอย่างมาก ซึ่งนับเป็นความหวังใหม่แก่ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน
แม้โรคสะเก็ดเงินจะเป็นโรคเก่าแก่ที่มีการค้นพบและถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์โบราณอย่างไบเบิลก็ตาม ความก้าวหน้าในวิธีการรักษาที่เริ่มได้ผลอย่างจริงจัง เพิ่งจะปรากฏขึ้น ในช่วงปลายศตวรรษที่ยี่สิบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการค้นพบวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ นอกจากการรักษาด้วยแสงอุลตร้าไวโอเล็ต ซึ่งก็มีวิธีการทางการแพทย์ที่ใช้ต่างกันออกไปหลายแบบ โดยวิธีนี้เป็นวิธีมาตรฐานที่จะช่วยในการควบคุมและลดอาการของโรคได้ อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดนี้ เริ่มมีการนำวิธีรักษาแบบใหม่ คือการรักษาทางชีวภาพ (Biologicals) เข้ามาใช้ ซึ่งเป็นความหวังใหม่แก่ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินทั่วโลก
ก่อนยุคศตวรรษที่ยี่สิบผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินไม่มีทางเลือกในการรักษามากนัก เนื่องจากผู้คนยังขาดความเข้าใจในโรคอย่างแท้จริง โดยมักเข้าใจว่าเป็นโรคติดต่อ ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจึงมักเป็นที่รังเกียจ และถูกกักบริเวณให้อยู่ในนิคมของผู้ป่วยโรคเรื้อน
ในปัจจุบัน วิธีการรักษาโรคสะเก็ดเงินสามารถแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่มหลัก ได้แก่
วิธีรักษาแบบเฉพาะที่ (Topical treatment) ส่วนมากเป็นการรักษาทางผิวหนัง
วิธีการรักษาด้วยแสง (Phototherapy) ซึ่งอาจใช้ร่วมกับการรักษาด้วยยา
วิธีรักษาทางระบบภูมิคุ้มกัน (Systemic treatment) เป็นการรักษาด้วยยาเม็ดรับประทานหรือยาฉีด
มีปัจจัยต่างๆมากมายที่ใช้ในการพิจารณาว่า ผู้ป่วยเหมาะจะรับการรักษาด้วยวิธีใดมากที่สุด โดยปัจจัยดังกล่าวได้แก่
ชนิดของโรคสะเก็ดเงิน
ตำแหน่งของโรคบนร่างกาย
ความรุนแรงของโรค
อายุและประวัติการรักษาของผู้ป่วย
การตอบสนองต่อวิธีการรักษาที่ใช้มาก่อน
การรักษาโรคสะเก็ดเงินในยุคต่างๆ
ราวหนึ่งร้อยปีก่อน: การรักษาด้วยไดทรานอล น้ำมันดินจากถ่านหิน กรดซาลิซิลิค แสงแดด เกลือจากทะเลสาบเดดซี โลชั่นหรือยาที่ทำให้ผิวหนังนุ่มลง
ทศวรรษที่ 1920: แสงอัลตร้าไวโอเล็ต (ยูวีบี) การรักษาแบบ Goeckerman
ทศวรรษที่ 1950: การรักษาแบบเฉพาะที่ และการให้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน
ทศวรรษที่ 1960: ไฮดร็อกซี่ยูเรีย
ทศวรรษที่ 1970: วิธี PUVA (ยาโซราเล็น (Psoralen) และรังสียูวีเอ)
ทศวรรษที่ 1980: ยาเมทโทเทร็กเสท (Methotrexate)
ทศวรรษที่ 1990: รักษาด้วยวิตามินดี 3 ยากลุ่มเรตินอยด์ ยาไซโคลสปอริน
ศตวรรษที่ 21 การรักษาด้วยวิธีทางชีวภาพ และการรักษาด้วยเลเซอร์
วิธีการรักษาแบบเฉพาะที่
วิธีการรักษาแบบเฉพาะที่ทางผิวหนัง เป็นแนวทางการรักษาอย่างแรกๆ ที่มักถูกนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน โดยทั่วไปแล้วจะได้ผลอย่างรวดเร็วในการขจัดรอยฟกช้ำ และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถทนรับการรักษาชนิดนี้ได้ดี อย่างไรก็ตาม วิธีนี้จะต้องทำซ้ำอย่างสม่ำเสมอจึงจะได้ผลดี เพราะมักไม่สามารถบรรเทาอาการของโรคได้นานเท่าที่ควร วิธีนี้ยังอาจจะทำให้เปื้อนเปรอะเลอะเทอะและใช้เวลาในการทายารักษานานหากโรคสะเก็ดเงินกินบริเวณกว้างบนผิวหนัง ตัวยาที่ใช้ได้แก่
ไดทรานอล (Dithranol)
คอร์ติคอสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
น้ำมันดินจากถ่านหิน (Coal Tar)
กลุ่มยาเรตินอยด์ (ยาใช้ภายนอกซึ่งเป็นอนุพันธ์ของวิตามินเอ)
ยากลุ่มวิตามินดี
กรดซาลิซิลิค และการรักษาทางผิวหนังที่ไม่ใช้ยา
การรักษาด้วยแสง
ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางผิวหนัง หรืออยู่ในภาวะที่โรคลุกลามกินบริเวณกว้าง นับว่าเข้าข่ายผู้ป่วยที่อาจต้องรับการรักษาด้วยแสง โดยวิธีนี้จะให้ผิวของผู้ป่วยสัมผัสกับคลื่นแสง ที่มีช่วงความยาวคลื่นอยู่ในระดับแสงอุลตร้าไวโอเล็ต ซึ่งเป็นช่วงคลื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคนี้โดยเฉพาะ วิธีการรักษาด้วยแสง เป็นวิธีการมาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินระดับปานกลางถึงขั้นรุนแรง ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางผิวหนังแบบดั้งเดิมแล้ว วิธีการรักษาด้วยแสงแบบต่างๆได้แก่
ไคลมาโทเทอราพี (Climatotherapy) รักษาด้วยการอาบแดดและแช่น้ำเกลือ
รังสียูวีบีแบบแถบคลื่นกว้าง (บรอดแบนด์) และแถบคลื่นแคบ (แนโรว์แบนด์)
วิธี PUVA (ให้ยาโซราเล็น ร่วมกับรังสียูวีเอ)
วิธีรักษาแบบ Goeckerman
การรักษาด้วยเลเซอร์
การรักษาทางระบบภูมิคุ้มกัน
เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยแสง หรือไม่สามารถรับการรักษาด้วยแสงเป็นประจำได้ ในกรณีนี้จำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งยานี้จะส่งผลต่อการรักษาทั่วทั้งร่างกาย โดยยากลุ่มนี้ได้แก่
เมทโทเทร็กเสท
ไซโคลสปอริน (Cyclosporin)
ยากลุ่มเรตินอยด์ชนิดรับประทาน
การรักษาแบบชีวภาพ
นวัตกรรมทางเทคโนโลยีชีวภาพได้นำไปสู่การคิดค้นวิธีรักษาโรคสะเก็ดเงินแบบใหม่ ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยการรักษาวิธีนี้เป็นการผลิตยากลุ่มที่เรียกว่า “ไบโอโลจิคอล” ซึ่งผลิตจากโปรตีนธรรมชาติ ซึ่งยาจะเข้าไปแทรกแซงขั้นตอนการเกิดพยาธิสภาพของโรคดังนี้
ยากลุ่มไบโอโลจิคอลจะมุ่งออกฤทธิ์ไปที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแบบเฉพาะส่วน โดยโปรตีนที่ใช้จะไปสกัดการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันบางตัวซึ่งมีบทบาทต่อการเกิดโรคสะเก็ดเงิน ในขณะที่การรักษาแบบอื่นเช่นวิธี PUVA ยาเมทโทเทร็กเสท และไซโคล สปอริน จะออกฤทธิ์และส่งผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันร่างกายทั้งระบบ การทำงานของยากลุ่มไบโอโลจิคอลจะมีความเฉพาะเจาะจงสูงกว่า และมีความปลอดภัยมากกว่าเมื่อเทียบกับยาชนิดอื่น
ยากลุ่มไบโอโลจิคอลหลายตัวกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ในจำนวนนี้รวมถึง ยาอีฟาลิซูแมบ (Efalizumab) อีทาเนอร์เซ็พ (Etanercept) และอินฟลิกซิแมบ (Infliximab) โดยเฉพาะยาอีฟาลิซูแมบ (Efalizumab)ของ บริษัท เซโรโน่ มีจำหน่ายแล้วในหลายประเทศ
ยากลุ่มไบโอโลจิคอลถูกนำเข้าสู่ร่างกายด้วยการฉีด และส่วนมากจะใช้กับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินขั้นปานกลางและรุนแรง--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ