วช. มอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ TWAS ประจำปี 2003

ข่าวทั่วไป Monday October 18, 2004 13:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--วช.
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ “2003 TWAS Prizes for Young Scientists in Thailand” สาขาคณิตศาสตร์ ประจำปี 2546 ให้แก่ ดร.ปิยะพงศ์ เนียมทรัพย์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันพุธที่ 20 ตุลาคม 2547 เวลา 13.30 น. ณ ห้องรวยเพชร โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพมหานคร โดยมีนายชอบวิทย์ ลับไพรี รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล
สภาวิทยาศาสตร์แห่งโลกที่สาม หรือ The Third World Academy of Sciences (TWAS) เป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2526 จากความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากประเทศกำลังพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างสภาวะผู้นำทางการเมืองและทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความอุปถัมภ์และกำกับดูแลของ UNESCO โดยมีสำนักงานอยู่ที่อิตาลี ในการจัดตั้งโครงการนักวิทยาศาสตร์
รุ่นเยาว์นั้น เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 โดยเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ที่มีผลงานดีเด่นใน 4 สาขาวิชาการ คือ ชีววิทยา เคมี คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ หมุนเวียนกันในแต่ละปีเข้ารับรางวัล ซึ่งประกอบด้วย โล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลจำนวน 2,000 เหรียญสหรัฐฯ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ได้เข้าร่วมโครงการเมื่อปี พ.ศ. 2540 นับเป็นประเทศลำดับที่ 25
สำหรับรางวัล “2003 TWAS Prizes for Young Scientists in Thailand” นี้ คณะทำงานสรรหาฯ ได้มีมติเลือกดร.ปิยะพงศ์ เนียมทรัพย์ แห่งภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ได้รับรางวัลดังกล่าวในสาขาคณิตศาสตร์ ซึ่งผลงานที่ ดร.ปิยะพงศ์ฯ เสนอเพื่อขอรับรางวัลเป็นผลงานวิจัยทางด้าน Complex Analysis และ Complex Dynamics โดยมีผลงานวิจัยหลักคือ 1. การศึกษาเซตจูเลียของฟังก์ชันตรรกยะและฟังก์ชันทั่วไป โดยเฉพาะฟังก์ชันเลขชี้กำลัง และฟังก์ชันตรรกยะที่มีเซตจูเลียเป็นเซตย่อยของเซตของจำนวนจริง 2. การศึกษาผลเฉลยของสมการฟังก์ชันบางสมการ โดยให้ความสนใจกับผลเฉลยที่เป็นฟังก์ชันตรรกยะและฟังก์ชันมีโรมอร์ฟิกโดยประยุกต์การศึกษาการลู่เข้าของระเบียบวิธีนิวตันและวิธีฮัลเลย์ และ3. การศึกษาสมบัติไม่แปรเปลี่ยนของการแปลงเชิงเส้นคู่ โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะเฉพาะและสมบัติเชิงเรขาคณิตของการแปลงเชิงเส้นคู่ นอกจากผลงานที่ตีพิมพ์แล้ว ยังมีผลงานที่เสนอในที่ประชุมนานาชาติอีกหลายแห่ง
การที่สำนักงานฯ ได้จัดพิธีมอบรางวัลนี้ขึ้น เพื่อเผยแพร่ผลงานและประกาศเกียรติคุณของผู้ได้รับรางวัล เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่นักวิทยาศาสตร์ไทยในการสร้างสรรค์ผลงานอันมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่อไป--จบ--
--อินโฟเควสท์ (อบ)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ