กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--สายการบินไทยแอร์เอเชีย
แอร์เอเชีย สายการบินราคาประหยัดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ยืนยันการสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ320 เพิ่มอีก 100 ลำ เพื่อขยายการให้บริการให้ครอบคลุมทั่วน่านฟ้าเอเชีย พร้อมบันทึกสถิติใหม่ในฐานะเป็นสายการบินที่มียอดสั่งซื้อเครื่องบินแบบทางเดินเดียวจากแอร์บัสมากถึง 475 ลำ การสั่งซื้อเครื่องบินครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ระดับภูมิภาคที่จะก้าวนำหน้าคู่แข่งในภูมิภาค โดยเน้นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการเปิดเส้นทางบินใหม่ การเพิ่มความถี่ และรักษาสถานะสายการบินราคาประหยัดที่มีผลกำไรมากที่สุดในเอเชีย
การสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ320 ครั้งนี้ ประกอบไปด้วยเครื่องบิน เอ320 ที่มีเครื่องยนต์แบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (Current Engine Option: CEO) จำนวน 36 ลำ และเครื่องบิน เอ320 ที่มีเครื่องยนต์แบบใหม่ (New Engine Option: NEO) จำนวน 64 ลำ เพื่อเร่งการเติบโตในตลาดหลักได้แก่ มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย พร้อมๆ กับช่วยกระตุ้นตลาดใหม่อย่างฟิลิปปินส์และญี่ปุ่น
การแถลงข่าวการสั่งซื้อเครื่องบินครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างการเยี่ยมชมโรงงานผลิตปีกเครื่องบินแอร์บัสของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด คาเมรอน ที่เมืองไบรตัน ประเทศสหราชอาณาจักร โดยเดวิด คาเมรอนได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญาสั่งซื้อระหว่าง โทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแอร์เอเชีย และ Fabrice Br?gier ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแอร์บัส
การลงนามครั้งนี้ตอกย้ำว่าแอร์เอเชียคือลูกค้าผู้สั่งซื้อเครื่องบินตระกูล เอ320 รายใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งนี้แอร์เอเชียได้สั่งซื้อเครื่องบินทางเดินเดียวจากแอร์บัสไปแล้วทั้งสิ้น 475 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินรุ่น เอ320 นีโอ จำนวน 264 ลำ และเอ320 ซีโอ จำนวน 211 ลำ โดยแอร์เอเชียได้รับมอบเครื่องบินไปแล้วกว่า 100 ลำ และเครื่องบินที่สั่งซื้อเพิ่มเติมจะทยอยรับมอบไปจนถึงปี 2564
โทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแอร์เอเชียกล่าวระหว่างพิธีลงนามว่า “เรามีเหมืองทอง 3 แห่งในมาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย ขณะที่ฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นมีศักยภาพสูงที่จะเติบโตต่อไป การสั่งซื้อเครื่องบินเพิ่มเติมสอดคล้องกับกลยุทธ์ของเราที่จะสร้างเครือข่ายให้ครอบคลุมมากขึ้น ผ่านทางเส้นทางบินใหม่ๆ และการเพิ่มความถี่ เพื่อให้แอร์เอเชียรักษาสถานะการเป็นผู้นำในตลาด โดยเฉพาะในมาเลเซียและประเทศไทย”
“ในมาเลเซีย เราก้าวข้ามความท้าทายมากมายมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นคู่แข่งที่ก้าวเข้ามาและเดินจากไป ขณะที่แอร์เอเชียยังยืนหยัดเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไปพร้อมกับการเพิ่มกำไร อัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (Load factor) และปริมาณการผลิตผู้โดยสาร (Revenue per available seat kilometer) ความสำเร็จที่สำคัญของเราเกิดขึ้นจากการมุ่งเน้นและวินัยในเรื่องการจัดการต้นทุนและเชื่อมั่นในรูปแบบธุรกิจของเรา กลยุทธ์นี้ทำให้การดำเนินงานในมาเลเซียรักษาระดับการจัดการต้นทุนที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับสายการบินอื่นๆ ในโลก และส่งผลให้เรามีงบดุลที่แข็งแกร่ง สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แอร์เอเชียยังรักษาผลกำไรไว้ได้สูงที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมการบิน
ด้านประเทศไทยมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และเดินตามแนวทางการดำเนินงานของมาเลเซียซึ่งทำให้มีผลกำไรเป็นที่น่าพอใจ การเพิ่มจำนวนฝูงบินจะช่วยกระตุ้นให้ไทยแอร์เอเชียเติบโตอย่างแข็งแกร่งทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อเข้าสู่ตลาดสำคัญอย่างจีนและอินเดีย พร้อมกันนี้การย้ายฐานปฏิบัติการบินกลับสู่ท่าอากาศยานนานานชาติดอนเมือง ซึ่งวางเป้าหมายเป็นท่าอากาศยานสำหรับสายการบินราคาประหยัด เราจะได้เห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลาอันสั้น สิ่งนี้ตรงกันกับวิสัยทัศน์ของเราที่จะตั้งฐานปฏิบัติการบินในท่าอากาศยานรองในภูมิภาคเพื่อรองรับการเติบโตที่รวดเร็ว โดยไม่ถูกกีดขวางจากความแออัดของท่าอากาศยานหลักในประเทศ
ทั้งนี้ การส่งมอบเครื่องบินแอร์บัสเอ 320 ใหม่ทั้ง 36 ลำ จะเสร็จสิ้นในปี 2559 โดยจะส่งมอบในปี 2556 จำนวน 2 ลำ ปี 2557 จำนวน 4 ลำ ปี 2558 จำนวน 22 ลำ และอีก 8 ลำในปี 2559 สำหรับเครื่องบินแอร์บัส เอ320 นีโอ จำนวน 64 ลำ ส่วนที่เหลือจะเริ่มจัดส่งในปี 2560 จำนวน 8 ลำ ปี 2561 จำนวน 14 ลำ ปี 2562 จำนวน 15 ลำ ปี 2563 จำนวน 14 ลำ และอีก 13 ลำในปี 2564
โทนี่ เฟอร์นันเดส กล่าวว่า เราเห็นฝูงบินราคาประหยัดขนาดใหญ่ เช่น ไรอันแอร์และอีซี่เจ็ท ซึ่งประสบความสำเร็จครอบคลุมในยุโรปและตะวันตกเฉียงใต้ในอเมริกา ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย สำหรับแอร์เอเชียเรามีศักยภาพครบถ้วนในตลาดที่มีผู้คนกว่า 3.2 พันล้านคน เมื่อรวมกับแผนการเติบโตครั้งนี้ยิ่งทำให้เรามั่นใจว่าจะสามารถเป็นผู้นำได้ในอาเซียน ตลอดจนในทวีปเอเชีย จีนและอินเดีย ในระยะไม่นาน ทั้งนี้ในแผนการขยายการเติบโต ในปี 2556 แอร์เอเชียจะรับเครื่องบินเพิ่มเติม โดยมาเลเซียจะรับมอบ 10 ลำ ประเทศไทย 8 ลำ อินโดนีเซีย 9 ลำ ฟิลิปปินส์ 3 ลำ และญี่ปุ่น 4 ลำ
นายทัศพล แบแลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นปลายทางยอดนิยมและเป็นศูนย์กลางการบิน ที่สามารถเชื่อมต่อและพร้อมขยายการเติบโต โดยการที่เราย้ายฐานปฏิบัติการบินมาที่ท่าอากาศยานดอนเมืองตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องรองรับฝูงบินและเส้นทางใหม่ๆ ในอนาคต และช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำเสนอบัตรโดยสารราคาประหยัดสำหรับทุกคนได้ดียิ่งขึ้น
“การรับเครื่องบินแอร์บัส เอ320 นีโอ ชาร์คเล็ต ถือเป็นส่วนหนึ่งในแผนการบริหารจัดการต้นทุน ซึ่งเครื่องบินรุ่นนี้สามารถประหยัดเชื้อเพลิงถึง 15% ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายและสามารถสร้างผลกำไรได้ดียิ่งขึ้น” นายทัศพลกล่าว