เอไอเอส ร่วม สสนก. สนับสนุนการตรวจวัดข้อมูลอุตุนิยมวิทยาผ่านระบบ GPRS

ข่าวทั่วไป Monday October 18, 2004 14:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--เอไอเอส
เอไอเอสให้ความร่วมมือกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ในโครงการตรวจวัดข้อมูลอุตุนิยมวิทยาผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมทุกอำเภอและกิ่งอำเภอประมาณ 210 จุด และส่งข้อมูลผ่าน GPRS บนเครือข่ายเอไอเอสไปยังศูนย์คอมพิวเตอร์เพื่อจัดการทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย เพิ่มความรวดเร็ว แม่นยำในการวางแผนเพื่อรองรับปัญหาด้านอุทกภัยและภัยแล้ง
นางวิไล เคียงประดู่ ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ ในฐานะโฆษกบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า บริษัทฯได้ให้ความร่วมมือกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ใน “โครงการโทรมาตรภาคเหนือ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผ่านเทคโนโลยี GPRS (General Packet Radio Service) บนระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเอไอเอส” อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบเครือข่ายข้อมูลทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นแผนงานเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือของข้อมูลโดยการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเพิ่มเติมทั่วประเทศ และเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อแสดงผลข้อมูลสภาพภูมิอากาศโดยอัตโนมัติ เช่นข้อมูลทางด้านอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ความกดอากาศ และปริมาณน้ำฝน
เอไอเอสได้นำเทคโนโลยี GPRS บนระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเอไอเอสที่มีความสมบูรณ์แบบทั้งในด้านคุณภาพของสัญญาณและความครอบคลุมทั่วประเทศ เข้าไปเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจวัดข้อมูลอุตุนิยมวิทยาในพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมด รวมถึงจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมทุกอำเภอประมาณ 210 จุด เพื่อแสดงผลข้อมูลสภาพภูมิอากาศโดยอัตโนมัติผ่านเทคโนโลยี GPRS บนเครือข่ายของเอไอเอสไปยังเครือข่ายคอมพิวเตอร์แม่ข่ายของโครงการระบบเครือข่ายเพื่อจัดการทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย โดย สสนก.จะเป็นผู้จัดหาเครื่องมือตรวจวัดในพื้นที่พร้อมส่วนควบคุม และเอไอเอสรับผิดชอบในการติดตั้งและจัดหาอุปกรณ์สื่อสัญญาณในการส่งข้อมูล ตลอดจนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่และค่าใช้จ่ายรายเดือน รวมค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่เอไอเอสให้การสนับสนุนเป็นเงิน 5 ล้านบาท ซึ่งเอไอเอสเห็นถึงความสำคัญในส่วนนี้ว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยส่วนรวม เพราะจะทำให้การเข้าถึงข้อมูลรวดเร็วและมีความถี่มากขึ้น เพิ่มความแม่นยำเที่ยงตรงของข้อมูลที่จะนำไปใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อวางแผนจัดการทรัพยากรน้ำสำหรับป้องกันอุทกภัยและภัยแล้งได้อย่างมีประ-สิทธิภาพ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะร่วมแสดงในงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2547 ในระหว่างวันที่ 19 — 23 ตุลาคม 2547 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 1 เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้ชมและศึกษาหาความรู้ถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอีกด้วย" นางวิไล เคียงประดู่ กล่าว
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ แผนกสื่อมวลชนสัมพันธ์ โทร 0 2 299 5042 --จบ--
--อินโฟเควสท์ (อบ)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ