กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--สำนักงาน กสทช.
พล.อ.อ. ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ให้แก่ผู้ชนะการประมูลทั้ง 3 ราย ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7ธันวาคม 2555 โดยมีเงื่อนไขในการอนุญาตประกอบกิจการฯ ทั้งในส่วนของเงื่อนไขทั่วไปและเงื่อนไขภายหลังการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz ให้ปฏิบัติตามก่อนการรับใบอนุญาตภายใน 90 วัน ในวันนี้ (วันอังคารที่ 11 ธันวาคม 2555) ได้ลงนามในใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะให้ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications — IMT) ย่าน 2.1 GHz และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ให้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวสืบเนื่องจากมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในการประชุมครั้งที่ 45/2555 เมื่อวันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม 2555 IMT ย่าน 2.1GHz เห็นชอบให้ใบอนุญาตกับทั้ง 3 บริษัท สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการเรื่องการออกใบอนุญาตให้ทั้ง 3 บริษัทเรียบร้อยแล้ว สำหรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications — IMT) ย่าน 2.1GHz ที่ทั้ง 3 บริษัทได้รับ จะมีอายุ 15 ปี ตั้งแต่วันที่ กทค. มีมติให้ใบอนุญาต คือ วันที่ 7 ธันวาคม 2555 ไปสิ้นสุดวันที่ 6 ธันวาคม 2570 โดยทั้งสามบริษัทจะได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1GHz ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม พร้อมเงื่อนไขในการประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งประกอบด้วยเงื่อนไขตามประกาศ กทช. เรื่อง เงื่อนไขมาตรฐานในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และเงื่อนไขตามข้อ 16 ในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz
โดยในส่วนของเงื่อนไขที่สำคัญๆ นั้น ได้แก่ ผู้ประกอบการทั้งสามรายจะต้องจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อการประกอบกิจการครอบคลุมครบทุกจังหวัดและครอบคลุมจำนวนประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายใน 2 ปีนับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต และร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายใน 4 ปีนับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต โดยโครงข่ายของผู้รับใบอนุญาตจะต้องรองรับอัตราความเร็วในการส่งข้อมูลไม่น้อยกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูลสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเงื่อนไขในเรื่องอัตราค่าบริการที่เป็นมาตรการเพื่อสังคมและผู้บริโภคนั้น กทค. ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขซึ่งสอดคล้องกับแถลงการณ์เจตนารมณ์ต่อสาธารณชนในการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ว่า ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดอัตราค่าบริการให้เป็นธรรม สมเหตุสมผลและไม่เอาเปรียบผู้บริโภค โดยในการเปิดให้บริการผู้รับใบอนุญาตจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการที่ลดลงโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการประเภทเสียง (voice) และบริการที่ไม่ใช่ประเภทเสียง (non-voice) ที่มีการให้บริการอยู่ในตลาด ณ วันที่ได้รับใบอนุญาต ทั้งนี้ จนกว่าคณะกรรมการจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
นอกจากนั้น สำนักงาน กสทช. จะนำส่งรายได้จากการประมูลงวดแรกพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 22,269.375 ล้านบาท และจะหักค่าใช้จ่ายจำนวน 40 ล้านบาท ก่อนจะนำส่งรายได้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยให้แก่กระทรวงการคลังเพื่อนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน จากนี้ ในอีกสองปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต ผู้รับใบอนุญาตจะต้องชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz เป็นจำนวนร้อยละ 25 ของราคาการประมูลสูงสุด และปีถัดไปจะต้องชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz ในส่วนที่เหลือ
นายฐากร กล่าวต่อว่า ทั้ง 3 บริษัทที่ชนะการประมูลสามารถติดต่อรับใบอนุญาตฯ ได้ที่ กลุ่มงานอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 1 อาคาร 2 ชั้น 3 สำนักงาน กสทช. ในวันและเวลาราชการ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สำหรับการให้บริการคาดว่าภายในเดือนเมษายน 2556 ผู้ประกอบการจะเริ่มเปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ให้ประชาชนได้ใช้บริการได้ และจะค่อยๆ ทยอยครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมตามเงื่อนไขการจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อการประกอบกิจการที่กำหนด
พล.อ.อ. ธเรศ กล่าวทิ้งท้ายว่า กสทช. จะกำกับดูแลให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งแก่ประเทศชาติและประชาชน ทั้งนี้การให้ใบอนุญาตในครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นในการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยจากระบบสัญญาสัมปทานมาเป็นระบบการให้ใบอนุญาต รวมถึงเป็นการนำคลื่นความถี่ที่ว่างอยู่มาใช้ให้บริการประชาชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ อันจะเป็นกลไกที่สำคัญในการยกมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโต พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) อย่างเต็มภาคภูมิ
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)
โทรศัพท์ : 0-2271-0151 ต่อ 315 - 317 โทรสาร : 0-2290-5241