กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
ฉลองปีใหม่อย่างไร ไม่ให้ทำลายสุขภาพ
นาวาอากาศตรีหญิงแพทย์หญิง สมโชดก ชาครียรัตน์อายุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบเมตาบอลิซึ่มและเบาหวานโรงพยาบาลกรุงเทพ
เทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ที่ใกล้เข้ามานี้ หลายท่านคงเตรียมตัววางแผนเฉลิมฉลอง กลับบ้านต่างจังหวัด เดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ เพราะเป็นวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน แต่อย่าสนุกเพลินจนลืมดูแลสุขภาพตัวเอง มิเช่นนั้นตอนเทศกาลหมดไปสารพันโรคภัยอาจแวะมาเยี่ยมเยียนท่านได้ วันนี้โรงพยาบาลกรุงเทพมีเกร็ดความรู้มาฝากทุกท่านให้ได้ฉลองปีใหม่กันแบบสนุกสนานและไม่ทำลายสุขภาพตัวเอง
นาวาอากาศตรีหญิงแพทย์หญิง สมโชดก ชาครียรัตน์ อายุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบเมตาบอลิสมและเบาหวาน โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้แนะนำ วิธีการดูแลตนเองในเรื่องอาหาร ตลอดจนข้อควรระวังในการรับประทานช่วงที่ต้องร่วมงานปาร์ตี้ สังสรรค์บ่อยๆ การรับประทานอาหารหรือการดื่มเครื่องดื่มสังสรรค์คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในช่วงเทศกาล ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่างๆ จะมีคำแนะนำเรื่องอาหารและการดูแลสุขภาพต่างกันไป เช่น
ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เช่น การสังสรรค์ต่อเนื่อง อดนอน พักผ่อนไม่เพียงพอ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้ง หรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เช่น น้ำอัดลม ไวน์หวาน หากรับประทานอาหารมากขึ้น อาจจำเป็นต้องมีการปรับขนาดยา โดยเฉพาะยาฉีดอินซูลินขึ้นตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีภาวะเจ็บป่วยที่ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง อาจจำเป็นต้องปรับลดขนาดยาลง ควบคู่ไปกับการตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้วด้วยตนเองบ่อยขึ้น เพื่อเฝ้าระวังระดับน้ำตาลในเลือดที่อาจสูงหรือต่ำผิดปกติ จนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยและญาติที่ดูแลควรมีความรู้เบื้องต้นในการแก้ไขภาวะผิดปกติต่างๆ เช่นเมื่อผู้ป่วยมีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น ใจสั่น หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม ตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้วผู้ป่วยพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หากยังรู้สึกตัวดี ควรหาน้ำหวาน น้ำผลไม้ 1 แก้ว หรือลูกอมให้ผู้ป่วยรับประทาน เพื่อเป็นการปฐมพยาบาลก่อนพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ขาหมู ไข่แดง อาหารประเภททอด หอย ปลาหมึก เป็นต้น เพราะระดับไขมันในเลือดที่สูง จะส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันง่ายขึ้น แม้ทานยาลดระดับไขมันอยู่เสมอ หากไม่ควบคุมอาหารด้วย อาจทำให้อาการของโรคเป็นมากขึ้นได้ นอกจากการรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับโรคแต่ละโรคแล้ว การบริโภคอาหารและน้ำที่สุก สะอาด ก็เป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพเช่นเดียวกัน ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆดิบๆ หรืออาหารแปลกๆที่ไม่เคยรับประทานมาก่อน เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ ท้องเสีย อาเจียนและติดเชื้อรุนแรงได้
ส่วนใครที่มีแผนว่าจะไปท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาวๆ ก็ควรเตรียมตัวดูแลสุขภาพให้พร้อมก่อนเดินทางไปเที่ยว โดยคำนึงถึงปัจจัยหลัก 4 อย่าง คือ
1. ไปเที่ยวที่ไหน ระยะเวลาในการเดินทางเป็นอย่างไร เช่น ไปทะเลหรือภูเขา โดยรถโดยสารหรือ เดินทางไปต่างประเทศ โดยเครื่องบิน
2. สถานที่ ที่จะไปถึงมีสภาพอย่างไร ในเรื่องของที่พัก ความสะอาด อากาศ ความสะดวกสบาย บริการสาธารณสุข อาหาร น้ำดื่ม
3. สภาพร่างกายของตนเองเป็นอย่างไร โรคประจำตัวที่เป็นอยู่ ยาประจำ ขณะนี้มีภาวะสุขภาพอื่นใดอีกหรือไม่ เช่น ตั้งครรภ์
4. หากเดินทางร่วมเป็นคณะ จำเป็นต้องทราบปัญหาของผู้ร่วมทาง โดยเฉพาะหากเป็นผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก หรือผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ว่าดูแลตนเองได้หรือไม่ ว่าต้องมีผู้ช่วยหรือผู้ดูแล หรือต้องจัดเตรียมสิ่งใดเป็นพิเศษ เช่น อาหารเฉพาะ รถเข็น เปลนอน ยกตัวอย่างเช่น หากต้องเดินทางไปต่างประเทศ ไปพม่า อินเดีย หรือเนปาล พร้อมญาติผู้ใหญ่หรือเด็กเล็ก เป็นระยะเวลา 10 วัน ท่าน และ ผู้เดินทางต้อง สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรจะสอบถามแพทย์ประจำตัวของท่านว่า สามารถเดินทางไกลได้หรือไม่ ถ้าได้ ก็ต้องเตรียมยาประจำตัวที่ใช้ทุกวันไปให้พร้อม ซึ่งมีความสำคัญพอๆ กับพาสปอร์ตเลยทีเดียว นอกเหนือจากนั้นอาจ ต้องขอใบรับรองแพทย์จากแพทย์ประจำตัว ว่ามีโรคประจำใดบ้าง ทานยาใดอยู่ หรือแพ้ยาใดหรือไม่ และเบอร์ติดต่อฉุกเฉินของแพทย์ประจำตัวหรือสถานพยาบาลนั้นๆ
หากตั้งครรภ์ ควรให้สูตินรีแพทย์ พิจารณาว่า การตั้งครรภ์ของท่านไม่มีปัญหา และไม่เสี่ยงต่อการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนด รวมถึงต้องขอใบรับรองแพทย์ รับรองอายุครรภ์ และคำเตือนไม่เดินผ่านเครื่องเอกซเรย์เพื่อยื่นให้เจ้าหน้าที่สายการบินทราบ โดยใบรับรองแพทย์ไม่ควรขอนานเกิน 1 สัปดาห์ก่อนการเดินทาง ในบางประเทศ อาจพบโรคติดต่อได้ เช่น ไวรัสตับอักเสบ เอ, ไทฟอยด์, ไข้กาฬหลังแอ่น, ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น ท่านควรพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาเรื่องการฉีดวัคซีน ซึ่งต้องฉีดก่อนเดินทางเป็นระยะเวลานานพอที่จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิ ก่อนการเดินทาง หากสถานที่ที่ไปทุรกันดาร ห้องน้ำไม่เพียงพอ มีปัญหาเรื่องความสะอาดน้ำดื่ม ท่านอาจต้องเตรียมน้ำดื่มบรรจุขวด แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ แผ่นทำความสะอาด กระดาษชำระ หน้ากากอนามัย อาหารแห้งที่บรรจุหีบห่ออย่างดีไปด้วย ควรเตรียมยาสามัญประจำบ้าน ให้คลอบคลุม อาการผื่นแพ้ ไข้หวัด เจ็บคอ ท้องเสีย อุปกรณ์ทำแผล ให้เพียงพอกับจำนวนคณะผู้ร่วมเดินทาง และหาข้อมูลของสถานพยาบาล ในบริเวณที่จะไป หากเกิดเหตุไม่คาดคิด ควรมีประกันสุขภาพ เมื่อท่านต้องเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางไปต่างประเทศรวมถึงสอบถาม หากเกิดเหตุการณ์เจ็บป่วย และจำเป็นต้องเดินทางกลับก่อนกำหนด ท่านจะได้ลดปัญหาความกังวลเรื่องการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่าย ระหว่างการเดินทาง ควรระมัดระวังความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม อุปกรณ์ที่ใช้รับประทานอาหาร และความสะอาดของ “มือ” เป็นสำคัญ อาหารใดที่ไม่คุ้นเคย หรือไม่แน่ใจในขั้นตอนการปรุงอาหารหรือความสะอาด ควรหลีกเลี่ยง รวมถึงระมัดระวังต่อการเกิดอุบัติเหตุ ที่สำคัญ ขอให้มี “สติติดตัว อยู่เสมอนะคะ”
สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือโรคอื่นๆ ควรใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองในช่วงเทศกาลมากเป็นพิเศษ เนื่องจากทุกปีที่ผ่านมามีการรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลโดยเฉพาะ “เมาไม่ขับ” เนื่องจากการดื่มสุราเป็นสาเหตุหลักอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตในช่วงเทศกาลของทุกปี แต่ยังมีโรคที่มิได้เกิดจากอุบัติเหตุอีกหลายโรคที่หลายคนอาจมองข้ามและละเลย เพราะคาดไม่ถึงว่าโรคเหล่านี้คร่าชีวิตคนไทยในปีหนึ่งๆไม่น้อยเลยทีเดียว เหตุเพราะปัจจุบันคนไทยมีอายุยืนขึ้น โดยมีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 73 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในอดีตที่คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 50 ปี อันเป็นผลจากการพัฒนาระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้น ทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แน่นอนว่าเมื่อมีอายุยืนยาวขึ้น โรคภัยไข้เจ็บย่อมมาพร้อมกับอายุที่มากขึ้นนั้น โดยเฉพาะโรคเรื้อรังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคหัวใจเป็นต้น ดังนั้นการใส่ใจให้ความสำคัญต่อโรคเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง จะสามารถลดความสูญเสียและทำให้ผู้ที่เป็นโรคเหล่านี้มีโอกาสได้เฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความสุขร่วมกับครอบครัว เพื่อนฝูงอย่างพร้อมหน้า ข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่างง่ายๆ แต่ควรจำให้ขึ้นใจในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ได้แก่
1. สำรวจ ตรวจเช็คสุขภาพให้พร้อม หากมีโรคประจำตัว อาทิเช่น ความดันโลหิตสูงหรือเบาหวานเป็นทุนเดิม ควรควบคุมความดันโลหิตและระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติโดยการทานยาหรือฉีดยาอย่างสม่ำเสมอ หากยังควบคุมความดันโลหิตหรือระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์ สำหรับโรคอื่นๆเช่นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกเดินทางเสมอ เพื่อประเมินความเสี่ยงและรับคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม
2. ตรวจสอบระบบประกันสุขภาพหรือความคุ้มครองเมื่อเจ็บป่วยหรือประสบภัย แน่นอนว่าในระหว่างเทศกาลเฉลิมฉลองที่มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวันนั้น อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยรุนแรง และมักเกิดปัญหาเสมอๆในเรื่องของการตรวจสอบสิทธิ การคุ้มครองต่างๆ ทั้งการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นวันหยุดต่อเนื่องยาว ทำให้การติดต่อประสานงานเป็นไปอย่างยากลำบาก หากไม่ได้เตรียมตัวตรวจสอบสิทธิ เงื่อนไขการคุ้มครองหรือบุคคลที่จะติดต่อได้ไว้ล่วงหน้า ดังนั้นก่อนออกเดินทางจึงควรมีการตรวจสอบ เตรียมเอกสารประกันภัย ช่องทางการติดต่อบุคคลต่างๆ ไว้ให้พร้อมเสมอ เพื่อให้การติดต่อประสานงานเป็นไปได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
3. พกสมุดประจำตัวผู้ป่วยไปด้วยเสมอ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยมักเกิดโรคภัยไข้เจ็บ หรืออุบัติเหตุต่างๆระหว่างการเดินทางหรือการเฉลิมฉลองในเทศกาล บางครั้งเป็นการเจ็บป่วยรุนแรง ผู้ป่วยไม่สามารถให้ข้อมูลแก่แพทย์ได้ การมีสมุดประจำตัวผู้ป่วยที่ระบุรายละเอียดการรักษา สถานพยาบาลประจำ ข้อมูลเกี่ยวกับโรคทั้งหมดที่เป็น รวมทั้งเบอร์โทรศัพท์หรือที่อยู่ผู้ที่จะติดต่อได้กรณีฉุกเฉิน เหล่านี้ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยในการที่แพทย์จะได้ให้การรักษาอย่างถูกต้อง ส่งผลให้การรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และต่อเนื่อง
4. พกยาประจำตัวไปด้วยเสมอ การลืมนำยาประจำตัวไปด้วยในขณะเดินทางหรือร่วมงานสังสรรค์ต่างๆ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย ที่ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากโรคบางชนิดจำเป็นต้องทานยาให้ตรงเวลาเพื่อรักษาระดับยาให้คงที่ การลืมทานยาแม้เพียงมื้อเดียว อาจส่งผลให้อาการของโรคกำเริบขึ้น อาทิเช่น โรคลมชัก บางโรคอาจเกิดภาวะดื้อยา หากรับประทานยาไม่ต่อเนื่อง เช่น วัณโรค โรคเอดส์ เป็นต้น หรือแม้แต่โรคเบาหวานเอง การขาดยาโดยเฉพาะยาฉีดอินซูลินในผู้ป่วยเบาหวานที่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงวิกฤตจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ บางครั้งแม้ไม่ลืมนำยาติดตัวใส่กระเป๋าไปแล้ว ก็อาจยังประสบปัญหายาหายบ้าง กระเป๋าหายบ้าง โดยเฉพาะการเดินทางระยะทางไกลๆ ดังนั้นการมียาสำรองพกติดตัวอีกชุดหนึ่ง จะช่วยลดโอกาสการขาดยาได้ นอกเหนือจากการไม่ลืมนำยาประจำตัวไปด้วยแล้ว การเก็บรักษายาอย่างถูกวิธีก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะคงประสิทธิภาพของยาไว้ ยาบางชนิดมักต้องเก็บให้พ้นแสงหรือความร้อน เช่น ยาโรคหัวใจ ยาบางชนิดห้ามเก็บในที่เย็นจัดหรือบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิบ่อย โดยเฉพาะยาฉีด เช่นอินซูลิน การเก็บรักษายาที่ไม่ถูกต้องเช่น การเก็บยาไว้ในรถยนต์ที่จอดตากแดด หรือแช่ในตู้เย็นที่อุณหภูมิไม่คงที่ อาจทำให้ยาเสื่อมสภาพไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก การเตรียมยาสามัญประจำบ้านเช่น ยาลดไข้ ยาลด น้ำมูก ยาแก้ปวดท้อง ผงเกลือแร่ ติดตัวไปด้วยในกรณีที่ต้องเดินทางไกลๆ อาจช่วยลดภาระการหาซื้อยา และทำการรักษาเบื้องต้นได้
การนำยาเหล่านี้ติดตัวไปขณะเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางด้วยเครื่องบินโดยสาร ควรมีใบรับรองแพทย์กำกับการใช้ยาติดตัวไปด้วย ในกรณีที่เป็นยาฉีดหรือยารับประทานปริมาณมาก เพื่อป้องกันปัญหาการเข้าใจผิดเกี่ยวกับการพกพายา ตามมาตรการการรักษาความปลอดภัยของสถานที่ต่างๆ ในกรณีที่ต้องเดินทางไกลๆ มีการเปลี่ยนแปลงเวลาไปมาก เช่น การเดินทางไปยุโรป หรือ สหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาตรงตามเวลาสม่ำเสมอ อาจเกิดปัญหาเรื่องเวลาที่เปลี่ยนไปกับการใช้ยาได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องใช้ยาฉีดอินซูลิน ดังนั้นก่อนออกเดินทางควรปรึกษาแพทย์ที่ให้การดูแลรักษาประจำว่าควรปรับเปลี่ยนการใช้ยาอย่างไรให้เหมาะสมในระหว่างการเดินทางนั้น
การดูแลบาดแผลเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งซึ่งไม่ควรมองข้าม เพราะในช่วงเทศกาลที่มีการสังสรรค์หรือการเดินทาง ย่อมมีโอกาสเกิดบาดแผลมากขึ้น ทั้งจากของมีคมบาด การพลัดตกหกล้ม ดังนั้นควรสำรวจร่างกายอยู่เสมอว่ามีบาดแผลเกิดขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีระบบประสาทรับความรู้สึกผิดปกติเช่น ผู้ป่วยเบาหวานหรือโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งบางครั้งอาจเกิดบาดแผลได้โดยไม่รู้ตัว เพราะหากละเลยอาจทำให้บาดแผลติดเชื้อและลุกลามได้ หากพบบาดแผลเหล่านี้ ควรพบแพทย์เพื่อทำความสะอาดบาดแผลอย่างถูกต้อง รับประทานยาปฏิชีวนะกรณีบาดแผลเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอาจจำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักในบางราย
ข้อแนะนำจากแพทย์ในการดูแลสุขภาพช่วงเทศกาล
- รักษาร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อน นอนหลับให้เพียงพอ
- ทานอาหารสุก ปรุงใหม่ สะอาด ระมัดระวังความสะอาดของน้ำดื่ม การปนเปื้อนสิ่งสกปรก รวมทั้งการผสมสารเสพติด (หากไปเที่ยวนอกบ้าน)
- ไม่ควรบริโภคของมึนเมา บริโภคยาหรือสารที่ให้สติ ความระแวดระวังตน ความสามารถในการตัดสินใจลดลง
- มี สติ รู้ตัวอยู่เสมอ ควรฝึกให้มีการสังเกตและรับรู้ต่อเหตุการณ์ผิดปกติ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ตน
- ควรหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หรือ เกิดโรคระบาด
จะเห็นได้ว่าหลักการการดูแลสุขภาพในช่วงเทศกาลไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่เราเอาใจใส่ เตรียมพร้อม และดูแลรักษาตัวเองอย่างเหมาะสม โดยอาศัยหลักในการปฏิบัติ 5 ประการง่ายๆ คือ ตรวจสภาพ (สุขภาพ) ตรวจสอบ (ความคุ้มครอง) พกสมุด(ประจำตัวผู้ป่วย) พกยา และรักษาตัว หากปฏิบัติได้ครบดังนี้แล้ว เทศกาลปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึงนี้ย่อมจะเป็นเทศกาลแห่งความสุข ที่ทุกท่านจะได้เฉลิมฉลอง ส่งความสุข และเริ่มต้นปีใหม่ 2556 ด้วยสุขภาพใจ สุขภาพกายที่สมบูรณ์ คุณหมอฝากทิ้งท้าย