กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--ไอแอมพีอาร์
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หรือ มิวเซียมสยาม จัดงาน Night at the Museum III ตอน หิน เหล็ก ไฟ จุดประกายการเรียนรู้ประวัติศาสตร์รูปแบบใหม่ กระตุ้นลูกหลานไทยยุค 2012 สืบค้นเรื่องราวของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ บรรพบุรุษของชาวสุวรรณภูมิ ผู้สร้างอารยธรรมแรกเริ่มและวิวัฒนาการเรื่อยมาจนกลายเป็นมนุษย์ในยุคปัจจุบัน โดยได้รับเกียรติจาก นายสมชัย ส่งวัฒนา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (สบร.) เป็นประธานเปิดงาน
Night at the Museum ตอน หิน เหล็ก ไฟ เป็นการเปิดพิพิธภัณฑ์ตอนกลางคืน โดยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่ขยายความจากเนื้อหาในห้องนิทรรศการถาวรชื่อชุด เรียงความประเทศไทย ซึ่งเป็นการจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 โดยครั้งนี้ มิวเซียมสยาม ได้เปิดประตูกาลเวลา เพื่อนำผู้ชมทุกท่านร่วมย้อนกลับไปสู่บรรยากาศยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพื่อพบกับชนเผ่าโบราณ ซึ่งเป็นผู้สร้างอารยธรรมแรกเริ่มของมนุษย์ และยังเป็นบรรพบุรุษของชาวสุวรรณภูมิ
นายสมชัย ส่งวัฒนา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (สบร.) หรือ OKMD ประธานเปิดงาน กล่าวว่า “สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และ มิวเซียมสยาม เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้การกำกับดูแลของ OKMD โดยทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางเลือกในรูปแบบของ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ หรือ Discovery Museum ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ในสาขาต่างๆ ผ่านนิทรรศการซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นโดยใช้นวัตกรรมใหม่ในการเล่าเรื่อง ที่สามารถจุดประกายความอยากรู้ ก่อให้เกิดการตั้งคำถาม และสร้างความปฏิสัมพันธ์ระหว่างนิทรรศการกับผู้ชม เพื่อให้เกิดทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง”
ด้าน นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) เปิดเผยว่างาน Night at the Museum III ตอน หิน เหล็ก ไฟ นำเสนอเรื่องราวการดำเนินชีวิตของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ อันเต็มไปด้วยปริศนาและความมหัศจรรย์มากมาย ที่ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ในยุคที่ปราศจากสิ่งอำนวยความสะดวกทุกชนิดและเครื่องมือสื่อสารใดๆ มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร โดยหลักฐานทางโบราณคดีเผยให้เห็นว่า มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์รู้จักคิดค้นและใช้เทคโนโลยีมานานนับแสนปี แม้จะไม่ใช่เทคโนโลยีทันสมัยแบบที่ใช้ในปัจจุบัน แต่มนุษย์ดึกดำบรรพ์กลับเป็นผู้ที่เริ่มสร้างอารยธรรม คิดค้นและสร้างเทคโนโลยีพื้นฐานขึ้นจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในธรรมชาติทุกชนิด อีกทั้งสามารถใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้สามารถเอาชีวิตรอดได้อีกด้วย
“การจัดงาน Night at the Museum เป็นกระบวนการหนึ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ ที่จะกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดจินตนาการสร้างสรรค์ และเกิดการต่อยอดทางความคิดที่ว่า ถ้าหากวันหนึ่งโลกกลับตาลปัตรมีเหตุให้บรรยากาศกลับไปคล้ายเมื่อ 500,000 ปีก่อน มนุษย์ยุคปัจจุบันจะสามารถเอาชีวิตรอดเหมือนบรรพบุรุษของเราได้หรือไม่ กิจกรรมในครั้งนี้จึงนับได้ว่า เป็นการเพิ่มมุมมองใหม่เกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์ และปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการเข้าพิพิธภัณฑ์ให้กลายเป็นเรื่องที่น่าสนุกสนาน น่าค้นหา น่าติดตาม และยังได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์บนดินแดนสุวรรณภูมิอีกด้วย” นายราเมศอธิบาย
งาน NIGHT AT THE MUSEUM III ตอน หิน เหล็ก ไฟ เป็นกิจกรรมใหญ่ประจำปี ภายในงานประกอบด้วยการแสดงแสง สี เสียง ผสมผสานเทคนิค 3D Video Mapping นำเสนอในรูปแบบลานนิทานรอบกองไฟ จะพาผู้ชมย้อนอดีตไปพบกับวิถีชีวิต การเอาตัวรอด การค้นพบและวิวัฒนาการเทคโนโลยีพื้นฐาน ผ่านตัวละครผู้เฒ่าหัวหน้าเผ่าที่เป็นมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และเจ้าหนูจำไม ซึ่งจะมีทั้งฉากตื่นเต้น เร้าใจและฉากตลกขบขัน ผู้ชมทุกเพศทุกวัยจะสนุกสนานไปกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในแง่มุมใหม่ๆ เกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ โดยมีนิทรรศการชุด หิน เหล็ก ไฟ ช่วยสนับสนุนให้เนื้อหาและองค์ความรู้จากลานนิทานเกิดความชัดเจนและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
นอกจากความมหัศจรรย์แห่งวิถีชีวิตมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่ผู้ชมจะได้สัมผัส สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ยังมุ่งหวังให้ผู้ชมได้เกิดกระบวนการเรียนรู้และมีการพัฒนาต่อยอดทางความคิดสร้างสรรค์ โดยการนำองค์ความรู้ที่ได้รับนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะหากในวันหนึ่งที่สาธารณูปโภคทั้งระบบเกิดล่มสลาย ขาดแคลนไฟฟ้า พลังงาน อาหาร และการสื่อสารถูกตัดขาด มนุษย์อาจต้องกลับไปเรียนรู้วิธีใช้สิ่งปกติธรรมดา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพื้นฐานเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้มีชีวิตรอดได้
นายราเมศ กล่าวเพิ่มเติมว่า งาน Night at the Museum เป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยนำประเด็นที่เปิดไว้ในนิทรรศการถาวรชุด เรียงความประเทศไทย มาขยายความต่อ กระตุ้นให้ผู้ชมได้ฝึกทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง
“กลุ่มเป้าหมายของมิวเซียมสยามคือคนทุกเพศทุกวัย โดยมีเป้าหมายหลักคือเด็กและเยาวชน การแสดงสื่อผสมและกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน Night at the Museum จะทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนานมีความสุข ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้และจดจำสิ่งรอบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหัวข้อที่นำเสนอในครั้งนี้คือ หิน เหล็ก ไฟ เด็กๆ จะเข้าใจถึงเรื่องราวของผู้คนในดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สำหรับผู้ที่มาชมงานเป็นครอบครัวก็จะมีเรื่องราวสนุกๆ กลับไปพูดคุยกันต่อ ช่วยให้เกิดการต่อยอดทางความคิดและองค์ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น” ผอ.สพร.สรุป
เปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ ได้จากนิทรรศการประกอบกิจกรรมชุด “หิน เหล็ก ไฟ” ณ ห้องตึกเก่าเล่าเรื่อง จนถึงวันที่ 31 ม.ค.2556 ณ มิวเซียมสยาม สนามไชย กรุงเทพฯ
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 02-225-2777 ต่อ 413,414 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan และ www.museumsiam.com