กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จับมือ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จัดเสวนาวิชาการลูกยอ-ขมิ้นชัน รักษาโรคกรดไหลย้อน ในงานครบรอบ 10 ปีกรมฯแพทย์แผนไทยฯ พบตลาดนัดเพื่อสุขภาพ และบริการตรวจรักษาด้วยแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน ฟรี
โรคกรดไหลย้อน เป็นโรคฮิตอีกโรคหนึ่งที่พบอัตราการเกิดประมาณร้อยละ 10 หากย้อนกลับไป 5 ปีก่อน อุบัติการณ์ของโรคนึ้มีเพียงร้อยละ 5 ซึ่งสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้สูงขึ้นกว่าเดิมประมาณ 1 เท่า และนับวันจะมีอุบัติการณ์สูงขึ้นเรื่อยๆ การรักษาผู้ป่วยโรคนี้มักจะเน้นการใช้ยาจำพวกที่ไปลดการสร้างกรด ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ก็มักจะพบว่าการรักษามักไม่ได้ผล ต้องมีการปรับเปลี่ยนยาที่ใช้ไปเรื่อย ๆ จนมีคำถามว่ายาสมุนไพรจะสามารถเป็นอีกทางเลือกของผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้หรือไม่ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงร่วมกับ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จัดเสวนาวิชาการเรื่อง ลูกยอ — ขมิ้นชัน รักษาโรคกรดไหลย้อนได้อย่างไรเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน และผู้ป่วยที่สนใจจะนำสมุนไพรไปใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพต่อไป
ด้าน ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดเผยถึงการใช้ยาสมุนไพรในผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่า “โรคกรดไหลย้อน นับว่าเป็นโรคใหม่ แต่หากจะมองที่สาเหตุของการเกิดโรค แล้วประยุกต์เอาสมุนไพรไปใช้ก็น่าจะมีความเป็นไปได้ อย่างยอ สมัยที่ไปเดินป่ากับหมอยาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หมอยาบอกว่าลูกยอ แก้ลมพัดขึ้น ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจว่าลมพัดขึ้น คืออะไร แต่พอมาศึกษาทฤษฏีการแพทย์แผนไทยก็เข้าใจว่า ลมที่หมอยาบอกคือ การเคลื่อนไหว การที่กรดไหลท้นขึ้นมาได้ ก็เพราะลมพัดขึ้นมา และได้ลองแนะนำผู้ป่วยหลายรายไปใช้ก็ได้ผลดี จนอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ไปทำวิจัย พบว่ายอนั้นสามารถลดการอักเสบของหลอดอาหารจากการไหลย้อนของกรดได้ผลดีพอๆกับยามาตรฐานที่ใช้ในการรักษากรดไหลย้อนคือ รานิติดีน(ranitidine) และ แลนโสพราโซน(lansoprazole) เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านการหลั่งของกรด ต้านการเกิดแผล และทำให้การบีบตัวของระบบทางเดินอาหารดีขึ้นโดยมีผลต่อระบบประสาทที่เกี่ยวข้องโดยตรง และยังมีรายงานว่าสามารถเพิ่มการดูดซึมของรานิตีดีน นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่พบว่ายอมีแนวโน้มจะรักษากรดไหลย้อนได้ อีกทั้งทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีแผนการจะทำวิจัยศึกษาประสิทธิภาพของยาจากลูกยอและขมิ้นชันในการรักษาโรคกรดไหลย้อน โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2556 นี้ “ในขณะนี้ทางโรงพยาบาลกำลังดำเนินการในเรื่องการควบคุมคุณภาพลูกยอ โดยใช้ตัวบ่งชี้ (Marker) คือ สโคโปเลติน (scopoletin) หลังจากควบคุมคุณภาพแล้ว ก็มีแผนการจะวิจัยต่อในผู้ป่วยที่เป็นโรคกรดไหลย้อน โดยใช้สมุนไพรลูกยอร่วมกับขมิ้นชัน” ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร กล่าวปิดท้าย
สำหรับผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนที่สนใจจะใช้ลูกยอเพื่อรักษาอาการ สามารถมาร่วมกิจกรรมได้ที่ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2555 เวลา 8.00-12.00 น. หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 02-951-0319 หรือ ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร 037-211-289 ในวันและเวลาราชการ