กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เจรจาเตรียมความพร้อมจับมือ ญี่ปุ่น สร้างฐานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ รองรับญี่ปุ่นเกิดภัยพิบัติ
ภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น มั่นใจประเทศไทย รุกเจรจาขนทัพ “SMEs” วางฐานผลิตประเทศไทย คาดมูลค่าเงินลงทุนสิ้นปี 56 สูงกว่า 3 แสนล้าน
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมจับมือจังหวัดโทยาม่าประเทศญี่ปุ่น เปิดประตูเจรจาการส่งเสริมอุตสาหกรรมระหว่าง 2 ประเทศ ภายหลังที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีนโยบายในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ออกไปลงทุนยังต่างประเทศมากขึ้น โดยกรอบของการเจรจามี 2 ประเด็น อันได้แก่ การเชื่อมโยงเครือข่ายด้านอุตสาหกรรมระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นเมื่อประเทศญี่ปุ่นเกิดภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติ และการสร้างความร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยและญี่ปุ่น โดยมุ่งเป้าไปที่การผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดโทยาม่า และคาดว่าเมื่อเกิดความร่วมมืออย่างแท้จริงนอกจากประเทศญี่ปุ่นจะสามารถขยายฐานการผลิตในประเทศไทย ยังส่งผลให้เกิดการจ้างงานในประเทศไทยมากขึ้นด้วย ประโยชน์ที่ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการของไทยได้รับคือ องค์ความรู้ในการบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศชั้นนำด้านอุตสาหกรรมของโลก โดยที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มีโต๊ะญี่ปุ่น เป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานด้านการลงทุนในการส่งเสริมและพัฒนา ระหว่างไทยและญี่ปุ่นในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดฟูกุโอกะ จังหวัดไซตามะ จังหวัดโอซาก้า จังหวัดยามานาชิ จังหวัดโทโทริ จังหวัดฮิโรชิม่า จังหวัดชิมาเน่ ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนญี่ปุ่นอีกจำนวนมากโดยคาดว่าสิ้นปี 2556 จะมีมูลค่าการลงทุนจากอุตสาหกรรมญี่ปุ่นมาลงทุนในไทย สูงถึง 3.1 แสนล้านบาทสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)สามารถสอบถามได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-202-4426-7หรือเข้าไปที่ www.boc.dip.go.th
นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า สำหรับประเด็นในการหารือนั้นจังหวัดโทยาม่า ได้เข้าหารือและเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมของจังหวัดเป็น 2 ประเด็น คือ 1. การเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น เมื่อประเทศญี่ปุ่นเกิดภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติไม่สามารถผลิตได้ จะมีการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เพื่อลดภาวะการสูญเสียผลผลิต โดยมุ่งเป้าไปที่การผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของจังหวัด 2. การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของไทยและญี่ปุ่น เพื่อให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมของญี่ปุ่นเกิดการต่อยอดได้เพิ่มมากขึ้น และเพื่อเป็นการรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่จะให้ไทยเป็นประตูการค้าเชื่อมตลาดภูมิภาค ซึ่งสาเหตุที่ประเทศญี่ปุ่นได้เลือกประเทศไทยเป็นประเทศที่รองรับในการย้ายฐานการผลิต หรือการสร้างความร่วมมือในการลงทุนภาคอุตสาหกรรมนั้น เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเล็งเห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในทุกด้านทั้งในเรื่องของการผลิต แรงงานและสถานที่
นายประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายสนับสนุนให้ เอสเอ็มอีในประเทศย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ เพื่อป้องกันการปิดตัวของเอสเอ็มอีที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และเพื่อรักษาเทคโนโลยีที่มีอยู่เฉพาะในแต่ละ เอสเอ็มอี หรือที่เรียกว่า “Only One Technology” ให้ยังคงอยู่ต่อไปซึ่งประเทศญี่ปุ่นมักประสบปัญหาในการผลิต อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ตลาดหดตัวลง และต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น หลายจังหวัดในญี่ปุ่นจึงได้เข้ามาหารือกับทาง กสอ.มากขึ้น เพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้มีการหารือกันระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดโทยาม่า นายทาคะคาซึ อิชิอิ กับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมในจังหวัดโทยาม่า ซึ่งจังหวัดโทยาม่า เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นจำนวนมาก หากมีการพัฒนาอุตสาหกรรมไปในแนวทางที่ถูกต้อง แนวโน้มของการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมยายนต์ย่อมดีตามไปด้วย
การสร้างโอกาสทางการตลาดระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นกำลังมีสัญญาณที่ดี ที่ทั้งผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการญี่ปุ่นจะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลการลงทุน อุตสาหกรรม แรงงาน ฐานการผลิต ฯลฯ ระหว่างกันได้ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมหลักๆหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นสนใจจะเข้ามาลงทุนในไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มีโต๊ะญี่ปุ่น ที่เป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานด้านการลงทุนในการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับรัฐ และโต๊ะญี่ปุ่นของ กสอ. นี้ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้รับการติดต่อจากหลายจังหวัดในประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกับกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ จังหวัดฟูกุโอกะ จังหวัดไซตามะ จังหวัดโอซาก้า จังหวัดยามานาชิ จังหวัดโทโทริ จังหวัดฮิโรชิม่า จังหวัดชิมาเน่ เป็นต้นซึ่งมูลค่าการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยในช่วง 2 ไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีมูลค่ากว่า 2.1 แสนล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงปี 2556 จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 3.1 แสนล้านบาท”นายประเสริฐ กล่าวสรุป
ด้านนางศิริรัตน์ จิตต์เสรีรองอธิบดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม(BOC : Business Opportunity Center) ว่าเป็นหน่วยงานบริหารจัดการข้อมูลและปรึกษาแนะนำกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยและอุตสาหกรรมไทยมาโดยตลอด โดยเป็นศูนย์กลางของการให้ข้อมูลความรู้ด้านการบริหารการจัดการด้านพัฒนาบุคลากรด้านการประหยัดพลังงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านวิศวกรรมการเพิ่มโอกาสทางการตลาดตลอดจนการสนับสนุนการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกลุ่มธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยล่าสุด รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีนโยบายในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ออกไปลงทุนยังต่างประเทศมากขึ้น ประเทศญี่ปุ่นเองมองว่าประเทศไทยนั้นสามารถเป็นฐานกำลังการผลิตที่ดี จึงมีทิศทางของการขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทยมากขึ้น จึงส่งผลให้ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นสามารถกลายเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญต่อกันได้ในอนาคตอันใกล้
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)สามารถสอบถามได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-202-4426-7
ศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. 02-202-4426-7 /ข้อมูล
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. 02-202-4414ถึง 18