กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--สสส.
กลิ่นอายแห่งเสียงแคน เสียงพิณ ฉิ่ง ฉาบ และกลองกันตรึม รวมทั้งงานศิลปะภาพถ่าย ลายผ้า พิธีกรรมของภาคอีสานได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ในกิจกรรม “ประสานมือ สร้างพลัง ครั้งที่ 2” โครงการสื่อพื้นบ้าน สานสร้างชุมชน ภายใต้การสนับสนุนจากแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ที่ได้จัดขึ้นในบริเวณโรงเรียนจานเตยวิทยาประชาสรรค์ ต.ทุ่งกุลา อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งพื้นที่หนึ่งในโครงการลูกข่ายกลุ่มงานสื่อพื้นบ้านภาคอีสาน วันนี้ยังคงมีเวทีให้กลุ่มเยาวชนได้มีโอกาสแสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรมที่ได้ซุ่มซ้อม ฝึกฝน กันมาอีกครั้งหลังจากที่เขาได้สำแดงพลังฝีมือไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา
สำหรับในปีนี้ภายในงานได้เรียงรายไปด้วยการจัดนิทรรศการศิลปะเยาวชนจากแต่ละโครงการ อาทิ หลักสูตรท้องถิ่นลายผ้ามัดหมี่ โดยกลุ่มไทโส้บ้านโพนจาน จ.นครพนม, งานประดิษฐ์จากศิลปะฮูปแต้ม จ.มหาสารคาม ผ้าทอจาก จ.นครราชสีมา, ภาพถ่ายการทำงานในพื้นที่ วัฒนธรรมอาหารพื้นบ้าน หุ่นเชิดหนังตะลุงอีสาน การแสดงของเยาวชน อาทิ กันตรึม รำโส้ทั่งบั้ง หมอลำ หนังตะลุงอีสาน การผูกข้อมือ บายศรีสู่ขวัญ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนา (โสเหล่) เรื่องการสืบทอดสื่อพื้นบ้านเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยมีบางโครงการสามารถนำศิลปะของสื่อพื้นบ้านมาประยุกต์และออกแบบเป็นหลักสูตรท้องถิ่นในสถานศึกษา จึงเป็นโอกาสให้ตัวแทนโครงการอื่นๆ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วนำไปพัฒนางานศิลปะของท้องถิ่นตนเอง
ซึ่งนายสุรพงษ์ ยอดนางรอง อายุ 22 ปี ตัวแทนจากโครงการรากเหง้ากันตรึม จ.บุรีรัมย์ ได้พูดถึงการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกิจกรรมครั้งนี้ว่า ก่อนหน้านี้พวกเรายังไม่ได้มองว่าศิลปวัฒนธรรมเป็นสิ่งมีค่าและควรอนุรักษ์ไว้ขนาดนี้ หลังจากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมทำให้คิดได้ว่าศิลปวัฒนธรรมมีความหมายมาก เราน่าจะยอมรับวัฒนธรรมและอนุรักษ์กันได้แล้ว และไม่อยากให้ปรับเป็นวัฒนธรรมอื่น เช่น เกาหลี เพราะศิลปะของบ้านเราก็มีและเป็นสิ่งที่มีค่า ไม่เป็นเรื่องล้าสมัย การเข้ามาร่วมกิจกรรมวันนี้ได้มีโอกาสเรียนรู้สื่ออื่นๆ อย่างเช่น หมอลำ โส้ทั่งบั้ง การทอผ้า พอได้เรียนรู้แล้วก็จะเอามาต่อยอดอย่างคิดว่าจะนำลายผ้าของจังหวัดนครพนมมาผสมกับคณะกันตรึมบุรีรัมย์ โดยให้นางรำของคณะลองใส่และใช้ในการแสดง
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจที่จะบอกได้ว่า กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการสื่อพื้นบ้านสามารถเป็นส่วนหนึ่งของสะพานที่เชื่อมให้เกิดการสร้างเครือข่ายการการทำงาน การแลกเปลี่ยนแนวคิด ชีวิตวัฒนธรรมของภาคอีสาน อันเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำมาสู่การสืบทอดและมองเห็นเส้นทางการปรับประยุกต์ เพื่อต่อลมหายใจของสื่อพื้นบ้านภาคอีสานต่อไปในอนาคต
แม้ว่า “จำนวนสื่อพื้นบ้านจะค่อยๆ เลือนหายไปท่ามกลางสภาพสังคมสมัยใหม่” แต่อย่างน้อยก็เป็นที่น่าภูมิใจว่ายังมีเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่กำลังสร้างพลัง ร่วมกันใส่ใจสืบสานมรดกแห่งศิลปะพื้นบ้านที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้อย่างเป็นจริงเป็นจังสืบไป