กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--IR network
บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) กางแผนขับเคลื่อนธุรกิจปี 2556 เน้นผลักดันผลงานทุกภาคส่วนเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ นำร่องโดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 56.9 เมกกะวัตต์ สร้างรายได้แบบจัดเต็มตั้งแต่ต้นปีหน้า สานต่อธุรกิจด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้งในและต่างประเทศ รั้งท้ายด้วยการขยายฐานลูกค้าภาครัฐและเอกชนธุรกิจจัดจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้าเพิ่ม "สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย" ตั้งเป้ารายได้ปีหน้าขยายตัวต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10% จากปี 2555 แต่กำไรสุทธิจะเติบโตในอัตราสูงกว่าเนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เปิดจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ครบทุกไตรมาส
นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยถึง แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2556 ว่า บริษัทยังคงมุ่งเน้นผลักดันให้ผลการดำเนินงานในทุกภาคส่วนของธุรกิจที่บริษัทดำเนินการอยู่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี 2555 ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตในส่วนของอัตรากำไรสุทธิ หรือรายได้รวม โดยตั้งเป้ารายได้รวมในปี 2556 จะเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10% เป็นการเติบโตที่มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ดำเนินงานโดย บริษัท กันกุล พาวเวอร์เจน จำกัด (GPG) และ บริษัท จี-พาวเวอร์ ซอร์ซ จำกัด(GPS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย สามารถผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้ากำลังการผลิตรวม 56.9 เมกกะวัตต์ ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ครบทุกแห่งตั้งแต่ไตรมาส 1/2556 เป็นต้นไป อันจะส่งผลทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัดในปีหน้า
“ต้นปี 2556 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ครบทุกแห่ง ส่งผลทำให้รายได้รวมของบริษัทมีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องจากรายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะมีอัตรากำไรสุทธิประมาณ 35-40% ซึ่งถือเป็นอัตรากำไรสุทธิที่สูงกว่าการทำกำไรสุทธิจากธุรกิจเดิม ประกอบกับได้รับสนับสนุนจากค่า Adder ในอัตรา 8 บาท เป็นเวลาถึง 10 ปีจึงทำให้มีรายได้และกำไรที่มั่นคงตลอดระยะเวลาจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟภ.”
นอกจากนี้ในส่วนของธุรกิจการจัดจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า บริษัทตั้งเป้าการเติบโตภายในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ในปี 2556 โดยยังคงเน้นจำหน่ายให้กับ กฟภ.ที่ยังมีความต้องการเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การขยายระบบสายส่งและอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) ซึ่ง กฟภ.ต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงระบบสายส่งให้มีเสถียรภาพ พร้อมกันนี้บริษัทยังเดินหน้าขยายการจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องไปยังผู้รับเหมาเอกชนขนาดใหญ่และ Sub Contractor ต่างๆ หลังจากที่ภาครัฐส่งเสริมการสร้างสาธารณูปโภคประเภทโครงการขนส่งขนาดใหญ่ เช่น การก่อสร้างขยายสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินและลอยฟ้า เป็นต้น
สำหรับงานด้านต่างประเทศ GUNKUL อยู่ระหว่างศึกษาการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ที่ประเทศพม่ากับกระทรวงพลังงานพม่า ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและจัดหาผู้ร่วมทุนในโครงการดังกล่าว หากสำเร็จจะถือเป็นการต่อยอดธุรกิจในประเทศพม่า จากปัจจุบันที่มีเฉพาะธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ภายหลังจากที่พม่าได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนาระบบเศรษฐกิจเป็นในลักษณะ Turn key project โดยผู้ลงทุนในโครงการจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ในการบริหารโครงการด้วย บริษัทจึงมีแนวคิดจะเปิดสาขาในประเทศพม่าโดยตรง เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
"พลังงานลมจะให้ผลตอบแทนที่เร็วกว่าพลังงานแสงอาทิตย์และเป็นการสร้างกำไรให้เติบโตและมีเสถียรภาพมากขึ้น จากการที่พม่าเปิดประเทศมากขึ้นจำเป็นต้องลงทุนด้านพลังงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่าเอง ทำให้เชื่อว่าหลังจากเปิดประเทศครั้งนี้ความต้องการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าและโรงไฟฟ้าของพม่าจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้ GUNKULมีโอกาสได้งานเพิ่มมากขึ้นในอนาคต"
เขากล่าวต่อถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมกำลังการผลิตรวม 60 เมกะวัตต์ ที่ตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา จะแบ่งออกเป็นโครงการซับพลู 1 และโครงการซับพลู 2 สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 2 สัญญา กำลังการผลิตขนาด 8 เมกกะวัตต์และ 2 เมกกะวัตต์ ตามลำดับ ขณะนี้อยู่ระหว่างคัดเลือกกังหันลมสำหรับใช้ในโครงการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จและจำหน่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 3-4 ปี 2556 โดยจะจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในกับ กฟภ. ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 1 สัญญา กำลังการผลิตรวม 50 เมกกะวัตต์ คือ โครงการวายุ ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา คาดว่าจะจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ภายหลังจากเสร็จสิ้นโครงการซับพลูแล้วประมาณ 1 ปี
สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่ารายได้ของ GUNKUL จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 4,300 ล้านบาท โดยปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) ประมาณ 1,500 ล้านบาท ที่จะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ไปจนถึงปี 2556 และยังคงเดินหน้ายื่นประมูลเพิ่มอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน