กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--Market-Comms
ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ หรือ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ (Chiang Mai Thailand, The International Convention and Exhibition Centre Commemorating His Majesty’s 7th Cycle Birthday Anniversary หรือ CMICE) พร้อมเปิดให้บริการสงกรานต์ที่จะถึงนี้ ชูจุดศูนย์กลางสำคัญอุตสาหกรรมเมืองแห่งไมซ์ (MICE City Centre) รองรับตลาดหลักในประเทศ ตั้งเป้าดึงงานจากสมาคมและสมาพันธ์ต่างประเทศสู่เชียงใหม่ สนองนโยบายรัฐดันไทย ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคเอเชีย ในปี พ.ศ. 2559
นายเสกสรร นาควงศ์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงความ คืบหน้าโครงการว่า “ปัจจุบันการก่อสร้างดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว การเปิดบริการของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา และนโยบายผลักดันเชียงใหม่เป็นนครแห่งไมซ์ จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไมซ์ของเชียงใหม่เติบโตมากกว่าปกติ ที่จะโต เฉลี่ยปีละ 7-10 % ก็จะเติบโตเป็นปีละไม่น้อยกว่า 10-15 % จากปี พ.ศ. 2554 โดยที่ผ่านมา เชียงใหม่มีการจัด งานด้านไมซ์ จำนวน 427 ครั้ง มีจำนวนนักเดินทางกว่า 6 หมื่นคน สร้างรายได้คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.35 พันล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มไมซ์ในประเทศกว่า 1.9 หมื่นคน มูลค่ากว่า 82 ล้านบาท และนักเดินทางไมซ์จากต่างประเทศ กว่า 4.07 หมื่นคน สร้างรายได้กว่า 3.27 พันล้านบาท
สำหรับศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ก่อตั้งขึ้นเพื่อ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 และเพิ่มศักยภาพให้เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองแห่งไมซ์ของประเทศหรือ MICE City โดย เชียงใหม่มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคเหนือ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพในการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมธุรกิจไมซ์ของประเทศสู่ระดับนานาชาติ รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผ่าน 4 อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ได้แก่ Meeting ธุรกิจการจัดประชุม Incentive ธุรกิจการท่องเที่ยว เพื่อเป็นรางวัล Convention ธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติ และ Exhibition ธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้า/นิทรรศการ
จุดเด่นของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มีความ สามารถในการรองรับงานในระดับนานาชาติและระดับชาติ ได้พร้อมกันมากถึง 10,000 คน มีขนาดพื้นที่ทั้งหมด 326 ไร่ หรือพื้นที่รวม 521,600 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่จัดงานภายในอาคารกว่า 60,000 ตารางเมตร พื้นที่จัดงานภายนอกอาคารกว่า 7,443 ตารางเมตร และที่เหลือเป็นพื้นที่ใช้สอยสาธารณะอีกกว่า 365,000 ตารางเมตร ถือได้ว่าเป็นศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาค ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำให้ศูนย์ประชุมฯ แห่งนี้ สามารถดัดแปลงเพื่อการจัดงานได้หลากหลาย เช่น การจัดงานทางวัฒนธรรม งานโชว์ งานคอนเสิร์ต ต่างๆ โดยเทคโนโลยี การก่อสร้างห้องจัดแสดง (ที่ไม่มีเสา) เช่นเดียวกับศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี และศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค
“ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ยังมีความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ด้านทำเลที่ตั้ง รองรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่อปี (ประมาณการณ์ปี พ.ศ. 2555) ประมาณ 4.5 ล้านคน ซึ่งครอบคลุมตลาดหลักในย่านอาเซียนกว่า 3 พันล้านคน ด้วยเวลาการเดินทางไม่เกิน 7 ชั่วโมง และมี 16 สายการบินที่บินจากเชียงใหม่ไปยัง 175 จุดทั่วโลก นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2556 นโยบาย โมเดิร์น ไทยแลนด์ ของรัฐบาล ที่เน้นการสร้างโอกาสด้านการค้า การลงทุน ธุรกิจ และการสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ ด้วยการนำเสนอประเทศไทยในฐานะประตูสู่อาเซียน จุดเชื่อมต่อสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆ และความสำเร็จทางธุรกิจ ซึ่งจะ มีส่วนส่งเสริมธุรกิจไมซ์ในเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดที่มีจำนวนผู้เดินทางมาประชุมสูงสุด 5 อันดับแรกของเอเชีย ได้แก่ อินเดีย จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ขณะเดียวกันตลาดสหรัฐอเมริกาและกลุ่มยุโรป อาทิ สหพันธรัฐเยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย อันเป็นตลาดเดิม” นายเสกสรร กล่าวสรุป