กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18 — 19 ธันวาคม 2555 จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,226 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกภูมิภาค ทุกระดับการศึกษาและกลุ่มอาชีพ เกี่ยวกับการที่รัฐบาลจะทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากการสำรวจ พบว่า
ประชาชน ร้อยละ 66.37 คาดว่าจะไปลงมติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รองลงมา ร้อยละ 24.66 คาดว่าจะไม่ไปลงมติ และ อีกร้อยละ 8.97 ไม่แน่ใจว่าจะไปลงมติหรือไม่ สำหรับลักษณะการลงมติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้น ประชาชน ร้อยละ 46.32 ระบุว่า จะลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ รองลงมา ร้อยละ 28.23 จะลงมติไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกร้อยละ 21.71 ยังไม่แน่ใจ ว่าจะลงมติแบบใด มีเพียงร้อยละ 3.74 ที่จะลงมติโหวตโนไม่ออกเสียง
สำหรับหลักเกณฑ์ที่ประชาชนใช้ในการลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 49.16 จะลงมติตามความรู้สึกนึกคิดของตนเองว่าควรแก้หรือไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ รองลงมา ร้อยละ 39.47 จะลงมติตามความรู้ความเข้าใจในเนื้อหา หรือประเด็นของรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 2.88 จะลงมติตามคนอื่น เช่น ญาติพี่น้อง เพราะยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ในการแก้ไขและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ
ความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่รัฐบาลจะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 56.61 ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการใช้งบประมาณที่มากเกินไป ควรเอาไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ มากกว่า และร้อยละ 28.66 เห็นด้วย เพราะถ้าสามารถทำให้ความวุ่นวายทางการเมืองหรือความขัดแย้งต่างๆ จบลง
เมื่อถามถึงความคุ้มค่ากับการที่รัฐบาลจะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น พบว่า ประชาชน ร้อยละ 54.52 ระบุว่าไม่คุ้มค่า เพราะเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองมากกว่า และสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน รองลงมา ร้อยละ 25.78 ระบุว่าคุ้มค่า เพราะเป็นการทำเพื่อประเทศชาติ ทำให้เกิดความสงบในบ้านเมือง ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และปล่อยให้เกิดความขัดแย้งไม่จบไม่สิ้น
และท้ายสุดประชาชน ร้อยละ 67.57 คาดว่า น่าจะมีการทุจริตหรือความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น หากมีการทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเพียงร้อยละ 15.05 ที่คาดว่า ไม่น่าจะมีการทุจริตหรือความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น