“สตางค์” ได้รับคัดเลือกให้เป็นงานประติมากรรมติดตั้งหน้าอาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ

ข่าวทั่วไป Thursday October 21, 2004 10:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“สตางค์” ผลงานประติมากรรมของ พศุตม์ กรรณรัตนสูตร ได้รับคัดเลือกให้จัดสร้างเป็นสัญลักษณ์คู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนหนึ่งของกิจกรรมครบรอบ 30 ปี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากผลงานประติมากรรมที่ส่งเข้าประกวดมากถึง 167 ชิ้นงาน รวมเงินรางวัลที่มอบให้ผู้ได้รับรางวัลกว่า 7 แสนบาท
นายวิจิตร สุพินิจ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้คัดเลือกผลงานชื่อ “สตางค์” จากการประกวดประติมากรรมที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 30 ปี เพื่อนำไปเป็นงานต้นแบบที่จะนำไปจัดสร้างเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ ติดตั้งบริเวณหน้าอาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเห็นว่า “สตางค์” เป็นผลงานที่มีความโดดเด่น สามารถสะท้อนแนวความคิดของตราประจำตลาดหลักทรัพย์ ฯ โดยนำเสนอผ่านศิลปะที่ใช้เทคนิคที่มีความทันสมัยและความเป็นสากล
ผลงาน “สตางค์” เป็นการใช้รูปทรงของเหรียญสตางค์ที่หล่อขึ้นมาจากบรอนซ์ สอดประสานด้วยเส้นโลหะ 2 สี คือทองและเงิน ประกอบขึ้นเป็นตราของตลาดหลักทรัพย์ ฯ ที่มีมิติแตกต่างกันในทุก ๆ มุมมอง และยังแสดงออกถึงลักษณะการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วอย่างไม่หยุดนิ่ง ที่สำคัญยังถ่ายทอดความเป็น หยิน — หยาง ผสมผสานกับความเป็นสากล เพื่อสะท้อนสัจธรรมทางการลงทุนที่มีทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยง
ผู้ส่งผลงาน “สตางค์” คือนายพศุตม์ กรรณรัตนสูตร ศิลปินเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ในงาน ศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 47 ซึ่งส่งงานเข้าประกวดประเภทศิลปินเชื้อเชิญ ได้ให้ความหมายของผลงาน “สตางค์” ไว้ดังนี้
“สตางค์” เป็นการใช้รูปทรงของเหรียญสตางค์แทนเงินตราหรือทรัพย์ ผสมผสานกับรูปทรงของตราประจำตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้สัญลักษณ์ของความเป็นสากลผสมผสานกับความคิดทางตะวันออกในเชิงความหมาย โดยเส้นเหมือนจังหวะของดัชนี เส้นกราฟที่ขึ้นลงนำเสนอเป็นความนูน ความเว้า เหรียญที่มี 2 หน้า บวกและลบ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผลของการกระทำของคนที่ทำให้ดัชนี สูงขึ้นหรือลดลง ใช้โลโก้เนื่องจากที่มาจากจานโบราณเป็นสัญลักษณ์ประจำองค์กรที่คนรู้จักอยู่แล้ว เป็นปริมาตรที่แทนค่าโดยสร้างให้เป็นเอกลักษณ์ขององค์กร เป็นการนำโลโก้มาสังเคราะห์รูปทรงปลา ที่ คลี่คลายด้วยระยะของเส้นที่พุ่งสะท้อนกระแสของดัชนีที่รุนแรง เป็นแบบที่เน้นความเรียบง่าย กระชับ ความเป็นสากล สัจธรรม ใช้ภาพลักษณ์เดิมให้สง่างามขึ้น และเป็นวัตถุที่แทนค่าทรัพย์
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่าการประกวดประติมากรรมครั้งนี้นับเป็นการเชื่อมโยงศิลปะกับตลาดทุนด้วยกันได้เป็นอย่างดี และรู้สึกยินดีที่ผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้นำไปจัดสร้างเพื่อติดตั้งหน้าอาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผลงานเชิงศิลปะที่นำเสนอตราประจำของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อย่างมีความหมาย ซึ่งจะเป็นศิลปะที่อยู่คู่กับตลาดหลักทรัพย์ฯไปอย่างยืนนาน
นางภัทรียา เบญจพลชัย รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการตัดสิน เปิดเผยว่าการประกวดประติมากรรมครั้งนี้มีผู้ส่งผลงานรวมทั้งหมดมากถึง 167 ชิ้นงาน แบ่งเป็นประเภทประชาชนทั่วไป นิสิต นักศึกษา จำนวน 147 ชิ้นงาน และประเภทศิลปินเชื้อเชิญจำนวน 20 ชิ้นงาน ซึ่งได้รับทราบว่าเป็นการส่งผลงานที่มีจำนวนมากที่สุดครั้งหนึ่งสำหรับการจัดประกวดประติมากรรมในลักษณะคล้ายคลึงกัน
“คณะกรรมการได้ตัดสินงานประติมากรรมด้วยความระมัดระวังและมีความหนักใจพอสมควร เนื่องจากผลงานแต่ละชิ้น ล้วนเป็นผลงานที่มีคุณภาพทั้งสิ้น ทั้งในด้านแนวความคิด และความสวยงามทางศิลปะ ที่จะต้องมีความสอดคล้องกับตราประจำตลาดหลักทรัพย์ ฯ และเชื่อมโยงไปกับปรัชญาการลงทุนที่มีทั้ง ผลตอบแทนและความเสี่ยงควบคู่กัน” นางภัทรียากล่าว
นายนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน นายกสมาคมประติมากรไทย กล่าวให้ความเห็นว่า การประกวดประติมากรรมที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดขึ้น นับเป็นการส่งเสริมให้วงการประติมากรรมไทยได้มีการแสดงความคิดสร้างสรรค์ในส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับตลาดทุน และเป็นการสนับสนุนให้ผู้สนใจศิลปะให้มีเวทีในการแสดงความสามารถ เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง
ประติมากรรมที่ได้รับคัดเลือกให้นำไปเป็นต้นแบบจัดสร้างเพื่อติดตั้งหน้าอาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ ชิ้นนี้ เป็นงานประติมากรรมที่มีการใช้วัสดุใหม่ ๆ หลากสี สามารถสื่อความหมายถึงตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างชัดเจน รวมทั้งในแง่ของเทคนิคและรูปแบบการสร้างสรรค์ผลงาน จัดว่าอยู่ในระดับดีมาก”
นายนนทิวรรธน์กล่าว
ในการจัดการประกวดครั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ ฯ ได้รับการสนับสนุนจากนายนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน นายกสมาคมประติมากรไทย และคณบดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการจัดการประกวดและการประชาสัมพันธ์งาน ทำให้เกิดกระแสการตอบรับจากกลุ่มศิลปินเป็นอย่างดี
การส่งผลงานแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทศิลปินเชื้อเชิญ และประเภทประชาชนทั่วไป และนิสิต นักศึกษา คณะกรรมการตัดสินประกอบด้วย นายชำเรือง วิเชียรเขตต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาประติมากรรม ผศ. เข็มรัตน์ กองสุข ศิลปินชั้นเยี่ยมจากงานศิลปกรรมแห่งชาติ ผศ. วิชัย สิทธิรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และ นายนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน นายกสมาคม
ประติมากรไทย และคณบดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับนางภัทรียา เบญจพลชัย รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ ฯ นายสุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ
นายธรรมนูญ ดวงมณี ที่ปรึกษา ตลาดหลักทรัพย์ฯ และนายวิเชฐ ตันติวานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว
สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ทั้ง 2 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทศิลปินเชื้อเชิญ ได้แก่ “สตางค์” โดยนายพศุตม์ กรรณรัตนสูตร “สัมพันธภาพแห่งความสมดุล” โดยนายณภัทร ธรรมนิยา และ “Movement of Fish in Circle Wave ” โดยนายวสันต์ ฮารีเมา ได้รับรางวัลละ 100,000 บาท
ประเภทประชาชนทั่วไปและนิสิต นักศึกษา ได้แก่ “พลังความเคลื่อนไหวของรูปทรงกลม” โดยนายสุทธิศักดิ์ ภูธรารักษ์ “งอกเงย 2 ” โดยนายสุกรี เกษรเกศรา และ “ กลุ่มคน” โดยนายสมศักดิ์ คงนะภักดี ได้รับรางวัลละ 50,000 บาท
นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับรางวัลชมเชยรางวัลละ 10,000 บาท อีก 19 รางวัล โดยคณะกรรมการได้พิจารณาเพิ่มรางวัลให้แก่ผู้ส่งผลงานเพิ่มเติมเป็นรางวัลสนับสนุนอีกรางวัลละ 3,000 บาท โดยมีผู้ได้รับรางวัลสนับสนุนอีกจำนวน 23 ท่าน รวมเงินรางวัลสำหรับการประกวดครั้งนี้สูงถึงกว่า 7 แสนบาท
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะติดตั้งผลงานประติมากรรมที่จัดสร้างแล้วก่อนวันที่ 30 เมษายน 2548 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีอายุครบ 30 ปีในวันดังกล่าว ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายกิจกรรมและสาระบันเทิง บริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว จำกัด 0 2229 2645,
0 2229 2621
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 /
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049
เอกสารประกอบข่าวตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ฉบับที่ 126 /2547
วันที่ 20 ตุลาคม 2547
เรื่อง “สตางค์” ได้รับคัดเลือกให้เป็นงานประติมากรรมติดตั้งหน้าอาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ
นายพศุตม์ กรรณรัตนสูตร อายุ 33 ปี จบการศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับทุนรัฐบาลอิตาลี ให้ไปศึกษา ณ Accademia di Belle Arti di Firenze ประเทศอิตาลี รวมทั้งเคยได้รับรางวัลมากมาย อาทิเช่น รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ประเภทประติมากรรม ในงานศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 47 รางวัล The Winner (Sculpture) 2001/2002 โดย Vermont Studio Center Freeman Fellowship,USA. ฯลฯ นอกจากนั้น ยังเคยจัดแสดงผลงานและเข้าร่วมโครงการในอีกหลาย ๆ ประเทศ ทั้ง อิตาลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ