เปิดฉากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 คึกคัก รัฐหนุนภาคีเครือข่ายรณรงค์ประชาชนลดพฤติกรรมเสี่ยง

ข่าวทั่วไป Friday December 21, 2012 16:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ การประชุมใหญ่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 เริ่มขึ้นแล้ว ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพกว่า 3 พันคน ผลักดันฉันทามติ 9 เรื่องด่วนเสนอทุกฝ่ายร่วมแก้ไข รองนายกฯ “ปลอดประสพ” แนะควรใช้พลังเครือข่ายภาคีร่วมกัน สร้างกระบวนการทางสังคม เน้นป้องกันพฤติกรรมความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชน ทั้งโรคอ้วน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมเสนอแนวคิดประชานิยมด้านสุขภาพช่วยประชาชน การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2555 โดยมี ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา เป็นประธาน ท่ามกลางภาคีเครือข่ายสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจากทั่วประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยภาคีเครือข่าย ภาคประชาชน ประชาสังคม ภาควิชาการและวิชาชีพ และภาคการเมือง จำนวนกว่า 3,000 คนเข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีประชุมคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ เพื่อสร้างฉันทามติจากบทเรียนและปัญหาสู่นโยบายด้านสุขภาพจำนวน 9 วาระ ก่อนนำเสนอให้ทุกฝ่ายเร่งแก้ไข ดร.ปลอดประสพ กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อเรื่อง “ทุกนโยบาย ห่วงใยสุขภาพ” ว่า ปัจจุบันเราพบโรคร้ายที่เกิดขึ้น 2 ลักษณะ คือโรคที่เกิดจากเชื้อโรค ซึ่งสามารถเยียวยาด้วยการแพทย์ได้ อีกโรคมาจากความบกพร่องของร่างกายและการประพฤติปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม เช่นรับประทานอาหารมากไป อ้วนมากเกินไป นำไปสู่โรคความดันโรหิตสูงและโรคหัวใจ ซึ่งอนาคตน่าเป็นห่วงคนไทยจะเป็นกันมากขึ้น ซึ่งการป้องกันน่าจะมีประสิทธิภาพดีกว่าการรักษา สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จึงควรมีฉันทามติออกมาเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของคนให้มาก เนื่องจากเรื่องของการรักษาพยาบาลนั้น กระทรวงสาธารณสุขซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาล เป็นผู้ดูแลอยู่แล้ว รวมไปถึงโรคที่มนุษย์ไปนำเข้าสู่ตัวเอง เช่นซิฟิลิส โกโนเรีย เอชไอวี สิ่งเหล่านี้ป้องกันได้โดยภาคสังคมต้องเข้าไปดูแล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยกำลังพบกับสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาเรื่องของการเคลื่อนย้ายประชากรที่สะดวกรวดเร็วกว่าเดิม เพราะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อีกทั้ง วัคซีนหลายอย่างที่มีราคาแตกต่างกัน เช่นโรคไข้หวัดใหญ่ ควรจะแจกฟรีหรือไม่ เมื่อเรากำลังอยู่ในนโยบายประชานิยม ก็ควรนำดอกผลมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับด้านสุขภาพ ระบบแก้ปัญหาสุขภาพนั้นมีหลายมิติ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวที่จะทำได้ การจะครอบคลุมทุกมิติของปัญหา จะต้องมาจากมุมมองที่แตกต่างกัน การจะเลือกมาเป็นนโยบายหลักของประเทศได้ ก็ต้องมองดูว่าจะให้อยู่ในรูปแบบอะไร มติ กฎเกณฑ์ ปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ด้านดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 เนื้อหาจะประกอบไปด้วยการพิจารณา 9 วาระ ที่เป็นหัวข้อวิชาการที่ผ่านการศึกษามาและเก็บข้อมูลโดยภาคีเครือข่ายเป็นเวลากว่า 1 ปี เช่น เรื่องการใช้ไอทีซึ่งอาจส่งผลกระทบกับเด็ก สุขภาวะของพระสงฆ์ เรื่องของสิ่งแวดล้อม อาทิ ผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ปัญหาหมอกควันจากการเผาป่า เรื่องของมาตรฐานของอาหาร เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การใช้จักรยานออกกำลังกาย เป็นต้น ทั้งนี้อยากให้ประชาชนทุกภาคส่วน ได้เข้ามามีส่วนร่วมเพราะทุกคนมีส่วนในการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพได้ โดยงานจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 ธ.ค. นี้ หลังจากมีการลงฉันทามติในแต่ละหัวข้อแล้ว ก็จะมีการเสนอเรื่องสู่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ให้พิจารณาว่ารัฐบาลควรสนับสนุนในเรื่องใด รวมทั้งการเสนอให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมนำไปปฏิบัติด้วย ขณะที่บรรยากาศภายในงานเป็นไปด้วยความคึกคัก มีการจัดนิทรรศการให้ความรู้และกิจกรรมสนุกๆจำนวนมาก อาทิ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพ รณรงค์ให้ผู้เยี่ยมชมงาน และประชาชนทั่วไป หันมาใช้จักรยานและเดินเท้าแทนการใช้รถยนต์ประเภทต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่ประโยชน์ 3 ประการคือ "สุขภาพดี ฟรี สะอาด” พร้อมแนะนำโครงการดีๆ อาทิเช่น โครงการ "ค่ายเด็กอ้วน....ไม่ธรรมดา” ซึ่งเป็นการนำเด็กที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน มาทำกิจกรรมต่างๆเพื่อสุขภาพ และลดน้ำหนักเพื่อรักษาโรคอ้วนอีกด้วย นอกจากนั้น สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ยังมีการให้ความรู้ตามแนวคิดในการ "เตรียมพร้อมจากไป อย่างสุขใจ” ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ 2550 วางหลักรับรองสิทธิของบุคคลในการปฎิเสธการรักษาพยาบาลที่ไม่จำเป็นได้ ซึ่งจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย โดยจะต้องเป็นการตายตามธรรมชาติเท่านั้น มิใช่เรื่องการช่วยเหลือผู้อื่นให้ฆ่าตัวตาย ที่เรียกกันว่า การุณยฆาต ปัจจุบันความคิดดังกล่าวได้มีการยอมรับและตอบสนองมากขึ้น ขณะที่ "สถาบันการรู้ภาคชุมชนจังหวัดเพชรบูรณ์” เผยแพร่ความรู้ "การเกษตรชีวภาพ” เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ผ่านทางผู้นำชุมชน ตามโครงการ "ตำบลสุขภาวะ” ทำให้เกษตรกรในเครือข่ายทั้งหมดหันมาใช้เทคโนโลยีชีวภาพ แทนการใช้สารเคมี เพราะปัจจุบันเกษตรกรจำนวนมากยังมีแนวความคิดว่าสารเคมีดีกว่า ผลผลิตที่ได้เยอะกว่า คุ้มทุนมากกว่า ตลอดจนการสนับสนุนการใช้สารเคมีจากกลุ่มนายทุน ก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญ ทางด้าน "ลุงอาจ” เกษตรกรวัย 70 ปี ผู้ที่เคยใช้สารเคมีในการปลูกข้าวมากว่า 20 ปี ได้เล่าให้ฟังว่า หลังจากการเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ และการเตรียมดินที่ใช้ "เมล็ดปอทือ” แทนสารเคมี ผลผลิตที่ได้รับก็มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ถึงแม้ตนจะมีรายได้ที่น้อยกว่าจากเดิมที่ใช้สารเคมี แต่สุขภาพของตนเองและคนที่บริโภคผักเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า ส่วน สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจ เป้าหมายไปที่กลุ่มวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่ล่อแหลมต่อการมีเพศสัมพันธ์โดยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีการประชาสัมพันธ์สื่อสิ่งพิมพ์ ประเภทต่างๆ ตลอดจนให้คำปรึกษา ภายใต้โครงการ "ท้องไม่พร้อม” ซึ่งเป็นการให้คำแนะนำตั้งแต่ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ ตลอดจนรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดฝันอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการวางนโยบายที่เรียกว่า "มาตรฐานในการบริการสุขภาพที่เป็นมิตรแก่วัยรุ่นและประชาชน หรือ Youth Friendly Healthy Service” เพื่อเป็นการประกันคุณภาพในการบริการทางด้านสาธารณะสุขแก่วัยรุ่นให้ได้มาตรฐานที่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. ตลอดทั้ง 3 วัน ด้วย ประสานงาน : สำนักการสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โทรศัพท์ 02-832-9141-43
แท็ก โรคอ้วน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ