ทส. เดินหน้าแก้ปัญหาภัยแล้งในระยะยาว พร้อมเสนอแผนพัฒนาโครงข่ายส่งน้ำและกระจายน้ำ เข้า ครม. พฤศจิกายน นี้

ข่าวทั่วไป Friday October 22, 2004 14:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาภัยแล้งในปัจจุบัน จึงได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำ (ทน.) และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) ประสานงานร่วมกันกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค
บริโภคให้แก่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ที่ประสบปัญหาดังกล่าว
ซึ่งขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้ทรัพยากรน้ำจังหวัด ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำระดับจังหวัด จัดตั้งศูนย์อำนวยการติดตามแก้ไขปัญหาภัยแล้งขึ้น
โดยทำหน้าที่ในการรับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ต่างๆ และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเฉพาะหน้า เช่น การทำฝนหลวง การจัดหาเครื่องสูบน้ำ เพื่อใช้ในพื้นที่ทางการเกษตร แต่ทั้งนี้หากหมู่บ้านใดเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงก็จะมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เข้าไปช่วยขุดเจาะบ่อบาดาลให้
ส่วนการแก้ปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำในระยะยาวนั้น นายสุวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำการศึกษาเบื้องต้นในการจัดสร้างโครงข่ายส่งน้ำและกระจายน้ำเสร็จแล้ว ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ในต้นเดือนพฤศจิกายน
2547 นี้ โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและแก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในระยะยาวได้
อย่างไรก็ตาม ภาวะการขาดแคลนน้ำและปัญหาภัยแล้งได้ขยายขอบเขตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีผลมาจากการขยายตัวของประชากรและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการใช้น้ำอย่างไม่มีประสิทธิภาพและไม่ประหยัด จึงทำให้มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำถึง 67,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำที่สามารถใช้งานได้ของแหล่งกักเก็บน้ำที่มีอยู่ 51,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านที่ประสบปัญหาภัยแล้งอีกจำนวนกว่า 35,800 หมู่บ้าน หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ โดยในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา ปัญหาภัยแล้งได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนในแต่ละพื้นที่และเกิดความเสียหายต่อการเกษตรกรรม ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ