ทส.เปิดโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ใช้บ้านห้วยปลาหลด แม่สอด จ.ตาก นำร่อง

ข่าวทั่วไป Friday October 22, 2004 15:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้กระทรวงฯ ดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ โดยยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการให้ชาวบ้านรวมกันเป็นหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ และแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เกี่ยวกับแนวทางป่ารักษ์น้ำ และบ้านเล็กในป่าใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน สมดุล และยั่งยืน ตลอดจนใช้ประโยชน์จากป่าไม้อย่างเหมาะสม อันเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา
ดังนั้น เพื่อเป็นการสนองนโยบาย กระทรวงฯจึงได้จัดทำโครงการนำร่อง เพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นฟูป่าธรรมชาติ และป่าสาธารณะ ที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นป่าไม้หมู่บ้าน โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการ ดูแล เฝ้าระวัง ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูป่าหมู่บ้าน เพื่อให้ระบบนิเวศน์ป่าไม้สมบูรณ์สามารถรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงให้ชุมชนสงบสุขคู่กับความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ ดินและน้ำ อันเป็นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้น ตลอดจนลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ในครัวเรือน
“แนวทางที่กระทรวงฯ ได้ดำเนินการในโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ฯ นี้ก็คือ การกันพื้นที่หมู่บ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าไม้แต่ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ออก และจัดที่ดินทำกินให้ส่วนหนึ่ง รวมทั้งจัดป่าไม้รอบๆ
หมู่บ้านให้ชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ป่า ได้ช่วยกันดูแลรักษาป่าไม้และใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริใน โครงการ “หมู่บ้าน ป่าไม้แผนใหม่” ซึ่งการดูแลบริหารจัดการป่าไม้หมู่บ้านนี้ ชาวบ้านจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เรียกว่า คณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือ ทสม. เพื่อกำหนดกฎกติกาในการบริหารจัดการ รวมทั้งกำหนดเขตพื้นที่ต่างๆ และดูแลป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่า โดยมีพื้นที่เป้าหมายเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดกับเขตและในเขตพื้นที่ป่าจำนวน 10,866 หมู่บ้าน ใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ ใช้งบประมาณ 1,510.12 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี ตั้งแต่ปี 2548 — 2551 ”
สำหรับหมู่บ้านที่ได้รับคัดเลือกเป็นหมู่บ้านต้นแบบของโครงการนี้ คือ บ้านห้วยปลาหลด อ.แม่สอด จ.ตาก เป็น หมู่บ้านชาวเขาเผ่ามูเซอติดกับเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ซึ่งในอดีตมีการทำไร่เลื่อนลอยหมุนเวียนพื้นที่เพาะปลูกพืชไปเรื่อยๆ ทำให้มีปริมาณการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรต่อครอบครัวสูงมาก ส่งผลให้พื้นที่ป่าถูกบุกรุกทำลายไม่ต่ำกว่า 4,000 ไร่ แต่ภายหลังจากที่ได้มีการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยยึดแนวพระราชดำริเป็นหลัก ปัญหาเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินลดลงเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีการใช้พื้นที่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเหลือเพียง 166-1-38 ไร่ ส่วนพื้นที่ปลูกเสริมป่าในลักษณะของปหล่งอาหารชุมชน (Food Bank) ด้วยในตัวอีก 312-3-49 ไร่
ส่วนพื้นที่ทำกินเดิมซึ่งเป็นพื้นที่สูงชันและเคยมีการทำไร่เลื่อนลอยเดิม ชาวบ้านได้คืนพื้นที่ให้กับอุทยานเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์และสภาพป่าอีกไม่ต่ำกว่า 4,000 ไร่
ปัจจุบันอาชีพหลักของชาวเขาในบ้านห้วยปลาหลด นี้คือ เกษตรกรรม โดยมีพืชหลักที่ทำรายได้คือ มะระหวาน กาแฟ ลูกเนียง ดอกพุซซี่ ฯ โดยใช้ที่ดินทำกินเฉลี่ย 1.36 ไร่ ต่อครอบครัว ที่อยู่อาศัย 0.43 ไร่
ต่อครอบครัว และมีรายได้เฉลี่ย่ 21,500 บาท ต่อครัวเรือนต่อปี ซึ่งในอนาคตได้วางเป้าหมายที่จะให้ชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวเพิ่มเป็น 40,000 บาท ต่อปี ด้วยวิธีการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
การส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีราคาดีใช้ที่ดินน้อย ส่งเสริมด้านศิลปาชีพ ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Agrotourism และ Home Stay และอาชีพเสริมด้านอื่นๆ
ส่วนหน่วยงานของกระทรวงฯที่รับผิดชอบโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ มีหน่วยงานหลัก คือ กรมป่าไม้ รับผิดชอบเป้าหมายโครงการในพื้นที่ป่าไม้ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชรับผิดชอบในพื้นที่เป้าหมายอุทยาน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รับผิดชอบการสนับสนุนการรักษาและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ โดยมีหน่วยงานสนับสนุนคือ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบกระบวนการ ทสม. และการมีส่วนร่วม กรมทรัพยากรธรณี รับผิดชอบการเฝ้าระวัง เตือนภัยธรรมชาติ และการดูแลรักษาทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำรับผิดชอบการสนับสนุนการรักษาฟื้นฟูป่าต้นน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล รับผิดชอบการสนับสนุน น้ำอุปโภคบริโภคของชุมชน
และกรมควบคุมมลพิษรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมภายในหมู่บ้านและชุมชน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ