กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับStanford Technology Ventures Program (STVP) แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ก่อตั้งศูนย์ Asian Center for Innovation Ventures (ACIV)
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมมือกับ Stanford Technology Ventures Program (STVP) แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ก่อตั้งศูนย์ Asian Center for Innovation Ventures (ACIV) เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ทางด้านการบริหารธุรกิจและการประกอบการในโลกธุรกิจยุคใหม่ โดยมี ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , รศ.ดร. กุลภัทรา สิโรดม คณบดีคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายอลีจา ลอเรนซ์ เจ้าหน้าที่การทูตทั่วไปสหรัฐอเมริกา , ดร.เจมส์ เอ็ดเวิร์ด รูเบช ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโทบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ (IMBA) และดร.ทีน่า ซีริค ผู้อำนวยการศูนย์สแตนฟอร์ดเทคโลโลยีเวนเจอร์ แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (โดยสไกป์ / อินเตอร์เนท เทเลโฟน เซอร์วิส) ร่วมแถลงข่าวการก่อตั้งศูนย์ฯ ณ ห้องประชุม 500 ชั้น 5 ตึกคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันก่อน..
โดย รศ.ดร. กุลภัทรา สิโรดม คณบดีคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวว่า“สำหรับการจัดตั้งศูนย์ Asian Center for Innovation Ventures (ACIV) นับเป็นการร่วมมืออันดีระหว่างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Stanford Technology Ventures Program (STVP) แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ทางด้านการบริหารธุรกิจและการประกอบการในโลกธุรกิจยุคใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีในบริบทของภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งเผยแพร่บทความ บทวิเคราะห์ งานวิจัย เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจของภาครัฐและเอกชน นำเสนอข้อมูลเชื่อมโยงกระบวนการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นไปอย่างรอบด้านและมีทิศทางที่ชัดเจน อีกทั้งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจชั้นนำของประเทศไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญของการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพในระดับนานาชาติ และมุ่งมั่นที่จะต่อยอดความเป็นผู้นำในภาคธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์และการสร้างแรงบันดาลใจในการสรรสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ของผู้ประกอบการ ตลอดจนสนับสนุนให้คณาจารย์และนักศึกษาของคณะฯ ได้มีโอกาสศึกษา ค้นคว้าและวิจัยองค์ความรู้ด้านต่างๆ จากสภาพการดำเนินงานจริง”
พร้อมกันนี้ ดร.ทีน่า ซีริค ผู้อำนวยการศูนย์สแตนฟอร์ดเทคโลโลยีเวนเจอร์ แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ( Executive Director, Stanford Technology Ventures Program ) กล่าวว่า “ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติ และตื่นเต้นที่ได้มีโอกาสพูดถึงการร่วมงานกับทางโครงการ IMBA จากธรรมศาสตร์ ซึ่งการประชุมในด้านการศึกษา การเป็นผู้ประกอบการ (REE)เกิดขึ้นในครั้งแรกในปี 1998 โดย Stanford Technology Venture Program (STVP) ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสื่อสารและความร่วมมือระหว่างธุรกิจวิทยาศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่
สอนด้านเทคโนโลยีและผู้ประกอบการที่กำลังพัฒนาระบบการเรียนการสอนอย่างกว้างขวางในมหาวิทยาลัยทั่วโลก REE จึงเป็นการประชุมประจำปีที่จะเป็นศูนย์กลางของผู้มีความรู้ความสามารถด้านการเรียนการสอนในสาขาที่เกี่ยวข้องสำหรับผู้ประกอบการเพื่อสามารถแบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จและเรียนรู้วิธีการใหม่ และเพิ่มศักยภาพในการถ่ายทอดวิชาความรู้ในแขนงดังกล่าว ทั้งนี้ REE ได้รับการสนับสนุนจาก Accel Partners, บริษัทร่วมทุนระดับโลก ที่มุ่งมั่นให้ความช่วยเหลือให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ในการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ หลายปีที่แล้วเราก้าวไปอีกขั้นด้วยการเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างโปรแกรมที่เอ็ดดูแลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ STVP นักเรียนของ IMBA ได้เริ่มมาดูงานกับเราที่ Stanford ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Deep Dive Silicon Valley ที่ถือว่าเป็นประสบการณ์อันยิ่งใหญ่สำหรับนักเรียน IMBA และเราก็ได้มีโอกาสทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับนวัตกรรม เราจับกลุ่มระหว่างนักเรียน IMBA กับ นักเรียนเก่งๆอีก 60 คนจากทั่วโลกและสร้างความท้าทายด้วยการแก้ปัญหาเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานทางเลือกและความมั่นคงด้านอาหาร นักเรียนในแต่ละกลุ่มจะมาจากประเทศไทย, ทวีปเอเชีย, อเมริกาเหนือและยุโรป พวกเขาต้องติดต่อสื่อสารข้ามความต่างด้าน เวลา วัฒนธรรมและภาษาเพื่อที่จะก้าวผ่านความท้าทายที่เราได้ให้แก่พวกเขา เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของวิธีการที่เราทำงานร่วมกันเพื่อสร้างผู้ประกอบการและนักนวัตกรรมที่ดีขึ้น ฉันมักจะพูดอยู่บ่อยๆว่า...ผู้ประกอบการเป็นงานที่ท้าทายมาก คุณต้องออกไปสู่โลกแห่งความเป็นจริงและลงมือทำ มันเป็นกิจกรรมที่ต้องลงแรง ทำให้การสอนเพื่อการเป็นผู้ประกอบการนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทาย สำหรับอาจารย์และนักศึกษาคุ้นเคยกับการเรียนการสอนแบบปกติอย่าง เช่น Lectures การเรียนการสอนในลักษณะนี้อาจจะทำให้รู้สึกอึดอัด แต่มันก็เป็นความท้าทายและโอกาส ด้วยความร่วมมือครั้งใหม่นี้ เรามุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการและนักนวัตกรรมรุ่นใหม่ในประเทศไทยและในทวีปเอเชีย ความร่วมมือระหว่าง STVP และ IMBA นี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการ นักนวัตกรรมและผู้สอนทั่วประเทศและทั่วทั้งอาเซียน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเข้ามามีส่วนร่วมกับพันธมิตรของเราในประเทศฟินแลนด์และประเทศชิลีเพื่อขยายเครือข่ายทั่วโลก เพื่อเป็นการกระตุ้นการพัฒนาของวิธีการและกิจกรรมในการเรียนการสอนต่อไป การร่วมมือนี้จะทำให้ทางคณะเข้าใจในวิธีการสอนผู้ประกอบการและนวัตกรรมในรูปแบบใหม่ซึ่งเป็นวิธีของการเรียนการสอนที่ได้รับการประสบความสำเร็จที่ Stanford, ใน Silicon Valley และในส่วนอื่น ๆ ของโลก ในขณะเดียวกัน, STVP มีแพลตฟอร์มที่จะช่วยกระจายเนื้อหาและเผยแพร่ความสำเร็จในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ระดับโลก เรามีความภูมิใจกับความคืบหน้าที่เราได้ทำมาตลอด และยิ่งตื่นเต้นเกี่ยวกับสิ่งที่เราจะเจอในอนาคต ฉันอยากจะขอขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สำหรับโอกาสในการทำงานร่วมกันในครั้งนี้”