กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--ททท.
ตามโครงการพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจใน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และจีน (ยูนนาน) เพื่อรักษาบทบาทของความเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวในกลุ่มนี้ให้คงอยู่และยังคงมีการประสานความร่วมมือระหว่างกัน ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ประสานงานโครงการด้านการท่องเที่ยวของอนุภูมิภาค (Agency for Coordination Mekong Tourism Activities : AMTA) ซึ่ง ททท. ได้ริเริ่มจัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2540 เพื่อทำหน้าที่ประสานงานโครงการความร่วมมือและกิจกรรมด้านการตลาดการท่องเที่ยว รวมทั้งจัดทำแผนตลาดของกลุ่มโดยความร่วมมือจากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศสมาชิก เช่น การทำตลาดร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา ไทย-พม่า และ ไทย-ลาว-เวียตนาม โดยประเทศไทยจะเป็นประตู (Gateway) สู่ประเทศต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง มีการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบกและอากาศ ในลักษณะแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมระหว่างกัน อาทิ ส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ถึง 2 เส้นทาง ได้แก่ เชียงใหม่-มัณฑะเลย์-ตองยี-ย่างกุ้ง และ สามเหลี่ยมทองคำ-ลาว-พม่า-จีน-สิบสองปันนา-เมืองเชียงรุ้ง-ตลาดไทลื้อ ส่วนทางบกมี 4 เส้นทาง ได้แก่ สระแก้ว-นครวัด มุกดาหาร-สะหวันนะเขต-โฮจิมินห์ นครพนม-ฮานอย และ หนองคาย-เวียงจันทน์ ซึ่ง ททท.ได้ทำการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งกำหนดเส้นทางและรายการนำเที่ยวใหม่ ๆ ให้ธุรกิจเอกชนจัดรายการนำเที่ยวเสนอขาย สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายที่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศกลุ่ม GMS ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเดิมที่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ ส่วนนักท่องเที่ยวในภูมิภาคที่นิยมเดินทางระหว่างกันมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ เวียดนาม พม่า ลาว กัมพูชา จีน (ยูนนาน) ตามลำดับ ถึงแม้จะมีจำนวนไม่มากแต่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวันต่อคนค่อนข้างสูง เพราะนอกจากจะเดินทางมาท่องเที่ยวแล้วยังมาจับจ่ายซื้อของ รักษาพยาบาล และเพื่อการศึกษาอีกด้วย
แหล่งข่าว กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ
โทร. 0 2250 5500 ต่อ 1555-1563
โทรสาร 0 2250 5681
Web Site : ข่าวประชาสัมพันธ์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย http://www.tat.or.th/pr--จบ--