กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
เครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติหลายจังหวัดที่เดือดร้อนจากโครงการลงทุนทำลายสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้รัฐบาลแก้กฎหมายคุมเข้มการทำ EIA และ EHIA แนะใช้กฎหมายอาญาลงโทษพร้อมยึดทรัพย์ให้เด็ดขาด พร้อมตั้งหน่วยงานอิสระป้องกันปัญหาเจ้าของโรงงานหลีกเลี่ยง
ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 ได้มีการพิจารณาวาระ "การปฏิรูประบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ" (EIA/EHIA) โดยมี ดร. ไชยยศ บุญญากิจ ประธานคณะอนุกรรมดำเนินการประชุมคณะที่ 1 เป็นประธานการประชุมโดยมีภาคีเครือข่ายจากทั่วประเทศเข้าร่วม
ทั้งนี้ ที่ประชุมสนับสนุนให้มีการปรับปรุงการปฏิรูปการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA )และรายการการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง ครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องรอบด้าน และได้รับการยอมรับจากประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
ตัวแทนเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดปราจีนบุรี ได้เสนอให้มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยบทลงโทษทางอาญา ในกรณีที่เจ้าของโครงการไม่ปฏิบัติตาม EIA/EHIA เพิ่มจากปัจจุบันที่กฎหมายจะดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตเท่านั้น ควรมีการดำเนินการที่เข้มข้น เช่น การยึดทรัพย์สิน เป็นต้น และบอกว่าจังหวัดปราจีนบุรีได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและมีโรงงานอุตสาหกรรมจากนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น นิคมฯ นวนคร และนิคมฯโรจนะ ย้ายฐานมาที่ปราจีนบุรี ดังนั้น ในการปฏิรูป EIA และ EHIA จึงควรมีการกำหนดให้ชุมชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ว่าต้องการนิคมอุตสาหกรรมหรือไม่
ตัวแทนเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดสุราษฎร์ธานี เสนอให้มีการนำประมวลกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้ามาบังคับใช้ และเพิ่มบทลงโทษแก่บุคคลหน่วยงาน หรือองค์กรที่รับผิดชอบการจัดทำรายงาน EIA และ EHIA ในกรณีมีการปฏิบัติที่ผิดไปจากในรายงาน และเห็นควรให้มีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมาร่วมพิจารณาการทำรายงาน EIA และ EHIA
สอดคล้องกับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่เสนอว่าในร่างมติ ต้องระบุว่าคณะผู้ชำนาญการ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (คชก.) ต้องมีการลงพื้นที่ เพื่อศึกษาข้อมูลในทุกกรณีที่จะมีการจัดทำรายงาน EIAและ EHIA และให้ชุมชนเป็นผู้เสนอข้อมูลต่อ คชก. โดยตรง และให้ คชก.เชิญชุมชนเข้ารับฟังการประชุมจัดทำรายงานEIAและ EHIA ทุกครั้ง
ขณะที่ ตัวแทนเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครศรีธรรมราช เสนอให้มีการแก้ไขกำหนดเวลาให้นักลงทุนก่อสร้างโรงงานหลังจากได้รับอนุมัติ EIAและ EHIA จากเดิม 3-5 ปี เหลือ 2 ปี เนื่องจากระยะเวลา 3-5 ปี นานเกินไป และข้อมูล หรือปัจจัยต่างๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลง
ในด้านการติดตามการปฏิบัติตามรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตัวแทนเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดสมุทรสาคร เสนอให้มีการรายงานผลการติดตามให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะสามารถนำผลการติดตามไปสู่ประชาชนได้
ประสานงาน : สำนักการสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โทรศัพท์ 02-832-9141-43