กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น
- ผู้ประกอบการรายย่อยพัฒนาโครงการอย่างรอบคอบผ่านที่ปรึกษามืออาชีพ จับตากลยุทธ์ฝ่าวิกฤติแรงงานรับการเติบโต -
พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ผู้นำด้่านธุรกิจบริการอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจรของไทย เปิดมุมมองวิเคราะห์ภาพรวม แบบเจาะลึก หลังปี 55 เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ชี้ทิศทางการเติบโตจะมีให้เห็นอย่างหลากหลาย ไม่จำกัดเฉพาะ กทม. และ ปริมณฑล หัวเมืองหลักทางเศรษฐกิจและแหล่งชุมชนยังเนื้อหอมสำหรับผู้ประกอบการ ทุกระดับ การรุกตลาดของค่ายยักษ์ใหญ่ ทางอ้อมสู่การยกระดับมาตรฐานคุณภาพอสังหาริมทรัพย์ในองค์รวม คาดปี 56 ราคาอสังหาฯ โดยเฉลี่ยราคาขยับ 5-10% คอนโดมิเนียมระดับราคา 800,000 — 3,000,000 บาท ยังครองส่วนแบ่ง ตลาดสูงสุด เตือนภาคเอกชนควรวางกลยุทธ์ ปลดล็อคปัญหาแรงงานหลังเริ่มเห็นเค้าผลกระทบ จากปัจจัยดังกล่าว
นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า หากเปรียบเทียบ ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปี 2555 กับปีที่ผ่านมา พบว่ามีการเติบโตขึ้น ในทุกประเภทอย่างมาก สืบเนื่องจากผู้บริโภค เริ่มฟื้นความมั่นใจจากวิกฤติน้ำท่วมที่ผ่านมา ประกอบกับ ผู้ประกอบการรายใหญ่ ระดมเผยโฉมโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง พร้อมอัดแคมเปญการตลาดเพื่อดันยอดขาย จึงช่วยเสริมความคึกคักให้แก่ตลาด รวมทั้งในส่วนการซื้อ เพื่ออยู่อาศัยหรือแม้กระทั่งการซื้อเพื่อลงทุน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว “เมื่อภาพรวมอสังหาริมทรัพย์เติบโต ธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ก็เติบโตเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะธุรกิจซื้อ-ขาย-เช่า ที่เติบโตอย่างมาก ในทุกภาคทั่วประเทศ ซึ่งในปีนี้ มีสต็อกสินทรัพย์เพื่อเสนอขาย จำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในปี 2556 ทั้งจากผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยสินทรัพย์ใหม่จะขยายตัวจาก กทม. ไปสู่ ปริมณฑลรวมถึงย่านชุมชนที่รายล้อมด้วยระบบสาธารณูปโภคครบครัน และจังหวัดที่แข็งแกร่ง ด้านเศรษฐกิจทั่วประเทศ โดยกำลังซื้อหลักยังเป็นชาวไทยที่ประมาณ 95% ในขณะที่ต่างชาติอยู่ที่5%”
“เรามองเห็นพัฒนาการด้านบริการอสังหาริมทรัพย์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในปี 55” นายอนุกูลวิเคราะห์ “ผมมองว่า การที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ลงสนามระดับท้องถิ่น จะเป็นการสร้างมาตรฐานการขายใหม่ อาทิ ก่อนหน้านี้การทำโฆษณา หรือแม้แต่พัฒนาห้องตัวอย่าง เพื่อจำลองให้ลูกค้าได้เห็นอาจจะไม่มี ความสำคัญในการขายระดับท้องถิ่นแต่ปัจจุบัน ความคิดเช่นนี้เปลี่ยนไปเพราะความครบสูตร ในเรื่องกลยุทธ์การขายได้จุดกระแสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวขึ้น ใครที่ต้องการขายได้ต้องไม่มองข้ามปัจจัย เหล่านี้” หากพิจารณาถึงปัจจัยใหม่ๆ ที่จะส่งผลต่อทิศทางการเติบโตของ อสังหาริมทรัพย์ไทยในอนาคต นายอนุกูลสะท้อนมุมมองต่อประเด็นดังกล่าวว่า “แผนแม่บทของภาครัฐในการพัฒนาประเทศถือเป็น ปัจจัยสำคัญในการกำนดทิศทางการเติบโต ซึ่งในอนาคตเชื่อมั่นว่าจะเกิดการพัฒนาโครงการ อสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ขึ้นตามรอยต่อเมืองเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จังหวัดทางภาคเหนือ ที่เชื่อมต่อพม่าตอนบน และจีน,จังหวัดในภาคตะวันตกที่เชื่อมต่อพม่าตอนล่าง, จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เชื่อมต่อลาว และจังหวัดในภาคตะวันออกที่เชื่อมต่อกัมพูชา ซึ่งภาพดังกล่าวจะชัดเจนขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้ารับกระแส AEC”
ด้านนางสาวสมสกุล หลิมศุทธพรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวถึง ภาพรวมของธุรกิจบริหารงานขายโครงการว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหม่เริ่มมองเห็น ความสำคัญของที่ปรึกษาด้านการขายแบบครบวงจรมากขึ้น และผู้ประกอบการหน้าใหม่ส่วนใหญ่มักจะเป็น ผู้ที่ขยายธุรกิจจากธุรกิจหลักที่มั่นคงแล้วมาสู่การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ทำให้มีที่มาทางการเงิน ที่แข็งแกร่งกว่าในอดีตมาก รวมถึงมีการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบ “อีกปรากฎการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในธุรกิจ บริหารงานขาย คือ ความแข็งแกร่งของ กลไกการพัฒนาแบบ 3 ประสาน ทั้งในส่วนของ ผู้ประกอบการ, บริษัท ที่ปรึกษาด้านการขายและสถาบันการเงินหรือ ธนาคารพาณิชย์ ที่ปัจจุบันแหล่งเงินมักให้ความสำคัญ และสนับสนุน ให้ผู้ประกอบการเลือก Sole Agency ที่มีประสบการณ์ และประสบความสำเร็จมายาวนาน เพื่อลดความเสี่ยง ในการขายโครงการ ซึ่งถือเป็นกลไกอัตโนมัติเบื้องต้นในการ สร้างความเชื่อมั่นแก่ทั้งผู้ประกอบการ และลูกค้าผู้ซื้อโครงการ ปัจจุบันการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ของผู้ประกอบการ รายย่อยจะกระจายตัวอยู่ในเขต รอบนอกกทม. เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงในย่านเขต เศรษฐกิจใหม่
“กลยุทธ์การแก้วิกฤติด้านแรงงานและศักยภาพการควบคุมค่าใช้จ่าย คือ บทพิสูจน์ความแข็งแกร่งของธุรกิจบริการ ด้านอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต” นายชาญ ศิริรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหารทรัพยากรอาคาร และฝ่ายวิศวกรรม บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด คาดการณ์ “ภาวะการขาดแรงงานจะส่งผลให้บรรดาเจ้าของอาคารต้องเกิดความเครียด ปัจจุบันหลายองค์กรตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และเริ่มมอบหมายให้บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านงานบริการและงานระบบเข้ามาดูแลแบบครบวงจรมากขึ้น ด้านการขยายตัวของอาคารสำนักงานนั้นเนื่องจากภายใน 1-2 ปีนี้ เขต CDB ก็ยังคงอยู่ที่เดิม หากยังไม่มีการปรับเรื่องระบบการขนส่งครั้งใหญ่ การขยายตัวของอาคารสำนักงานไปยังโซนอื่นๆ ก็ยังคงไม่มีให้เห็นในระยะเวลาอันใกล้นี้ จะมีก็แต่เรื่องของการปรับปรุงอาคารเก่าให้ดูสวยงามขึ้น ปรับปรุงเรื่องระบบเพื่อรองรับการทำงานให้ทันสมัยและปลอดภัยมากขึ้น แต่หากมีการปรับเรื่องระบบขนส่งสาธารณะที่ดีขึ้นแล้ว โอกาสในการขยายตัวของอาคารสำนักงานไปยังโซนอื่นๆ ก็น่าจะมีแนวโน้มความเป็นไปได้เช่นกัน การเข้ามาของ AEC ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก เพราะองค์กรส่วนใหญ่ จะเข้ามาในลักษณะบริษัทสาขาที่มีสำนักงานใหญ่ในประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีอยู่แล้ว การปรับตัวของอาคารต่างๆ คงไม่มีมากนัก"
ทั้งนี้ ความเห็นดังกล่าวข้างต้นสอดคล้องกับความเห็นของ นางสาวพรรณวดี โพธิหน่อทอง ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการสายงานบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่มองว่าปัญหา ด้านแรงงาน และต้นทุนการบริหารที่สูงขึ้น จะเป็นตัวแปรหลักที่ต้องนำมาเป็นหนึ่งในปัจจัย ในการกำหนดกลยุทธ์และทิศทาง การดำเนินธุรกิจในปี 2556 “ในปีนี้ตลาดของธุรกิจบริหารจัดการ อาคารที่อยู่อาศัยโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการที่มีโครงการ คอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยวสร้างเสร็จทยอยสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้การที่นิติบุคคลโครงการเริ่ม ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญมาดูแลเรื่องการบริหารจัดการโครงการมากขึ้น ส่งผลให้มี บริษัทเกิดใหม่ที่เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจนี้จำนวนมาก บางบริษัทที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจได้ขยายธุรกิจ จากการเป็นเพียงบริษัทตัวแทนซื้อ-ขาย-เช่าอสังหาริมทรัพย์สู่ธุรกิจการบริหารจัดการอาคารที่อยู่อาศัย เพื่อทำให้ การบริการครบวงจรมากขึ้น หากพิจารณาเชิงลึกจะพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อตลาดนี้ คือ การขาดแคลนบุคลากร ปัจจุบันมีปัญหาขาดแรงงานทั้งในเรื่องพนักงานรักษาความปลอดภัยหรือแม่บ้านเป็นอย่างมาก เพราะปัจจุบัน คนในต่างจังหวัดเริ่มมีการหางานในเขตภูมิลำเนาของตัวเอง จึงทำให้มีแรงงานมาที่กรุงเทพฯ น้อยลง”
อย่างไรก็ตาม พลัส พร็อพเพอร์ตี้ คาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้ ธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ไทย จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีมาตรฐานและการพัฒนาอย่างเป็นระบบแบบแผนมากขึ้น ซึ่งการเข้ามาของ AEC จะเป็นสะพานและทางลัดเพื่อสร้าง การเรียนรู้ในแบบมาตรฐานสากล ซึ่งเชื่อว่าในเขตอาเซียน ไทยก็ยังเป็นประตูหลัก ในการเชื่อมต่อภูมิภาคอย่างแข็งแกร่ง