กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--กสทช.
- จับมือศาลยุติธรรมผลิตบุคลากรด้านไกล่เกลี่ยเพื่อรับข้อพิพาทมือถือพุ่ง
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผย ภายหลังจากเป็นประธานเปิดโครงการอบรมหลักสูตร “ความรู้และเทคนิคการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านโทรคมนาคม” จัดขึ้น ณ โรงแรม ชาโต เดอ เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 17-20 ธ.ค. 2555 ว่า โครงการนี้เป็นผลพวงจากความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงาน กสทช. เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบระงับข้อพิพาทด้านโทรคมนาคมโดยวิธีไกล่เกลี่ย ซึ่งล่าสุด กสทช. ได้ออกระเบียบ กสทช.ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียน พ.ศ. 2555 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว โดยปัจจุบันสำนักงาน กสทช.อยู่ระหว่างการจัดระบบงานธุรการและเตรียมบุคลากรเพื่อรองรับการดำเนินการตามระเบียบนี้ โดย กสทช. ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากศาลยุติธรรม โดยเฉพาะท่านวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดโครงการอบรมฯนี้ด้วย ทั้งยังสนับสนุนคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากศาลยุติธรรม ในการนี้ กสทช.ยังได้รับความอนุเคราะห์องค์ความรู้จาก “กูรู” ทางด้านการไกล่เกลี่ยและการเจรจาด้วยสันติวิธี อาทิ ศ. นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า , นายโชติช่วง ทัพวงศ์ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสศาลอุทธรณ์ภาค 7 รศ.ดร.โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ ในการเติมองค์ความรู้และถือเป็นโอกาสที่ดียิ่งที่บุคลากรของกสทช.จะเรียนรู้จากประสบการณ์ของศาลยุติธรรม และ “กูรู” เหล่านี้ นำความรู้มาต่อยอดกับแง่มุมของ กสทช. เพื่อนำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้กับข้อพิพาทด้านโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว
“จากความร่วมมือและการสนับสนุนของสำนักงานศาลยุติธรรม ทำให้สำนักงาน กสทช.จัดติวเข้มบุคลากรกสทช.ทั่วประเทศ ด้วยการฝึกอบรมและสร้างความคุ้นเคยกับวิธีการไกล่เกลี่ย เพื่อเตรียมรับข้อพิพาทและมุ่งคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเต็มที่ หลังเปิดบริการมือถือระบบ 3 จี โดยเน้นการเพิ่มทางเลือกในการระงับข้อพิพาทให้ผู้บริโภคด้วยการสร้างกลไกในการบังคับใช้ระเบียบ กสทช.ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยเรื่องร้องเรียนระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการให้เกิดความเป็นธรรมและเกิดประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อให้คู่กรณีทราบว่า ถ้าร้องเรียนเข้ามายัง กสทช. เกี่ยวกับข้อพิพาทมือถือแล้วจะมีระบบในการทำงานอย่างไรให้คู่กรณีเกิดความมั่นใจในระบบ และที่สำคัญต้องมีระบบบริหารที่ครบวงจร โดยมีบุคลากรให้คำแนะนำแก่ผู้ร้องเรียน มีการจัดห้องไกล่เกลี่ยอย่างเป็นระบบและเน้นบรรยากาศที่ผ่อนคลายเป็นมิตรระหว่างกันเพื่อนำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน ดังนั้นจึงควรแยกประเภทข้อพิพาทเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการข้อพิพาทที่ร้องเรียนเข้ามายัง กสทช.”
ในการนี้ นายอดุลย์ ขันทอง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ในฐานะกำกับดูแลสำนักระงับข้อพิพาทของสำนักงานศาลยุติธรรม ได้แสดงความชื่นชมถึงแนวทางการทำงานของกสทช.ที่นำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้ในการระงับข้อพิพาทด้านโทรคมนาคม ว่า กสทช.เดินมาถูกทางแล้ว ในขณะที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้ให้ข้อสังเกต ว่า เมื่อมีการเปิดให้บริการ 3 จี อย่างเต็มรูปแบบแล้ว คาดว่าจะมีข้อพิพาทมือถือเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น กสทช.จำเป็นจะต้องตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยเพื่อให้มีการบังคับใช้ระเบียบไกล่เกลี่ยของกสทช.โดยเร็ว เพื่อรองรับปริมาณเรื่องร้องเรียนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า การบริหารจัดการข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการมือถือนั้น มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะแม้แต่กระบวนการศาลยุติธรรมเองก็มีการต่อยอดระบบไกล่เกลี่ยคดีและระงับข้อพิพาทคดีไปสู่การตั้ง “ศูนย์สมานฉันท์และสันติวิธี” ส่งผลทำให้ศาลยุติธรรมสามารถบริหารจัดการคดีโดยไม่ต้องเข้าสู่สารบบการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมได้ปีละกว่า 100,000 คดี สำนักงาน กสทช.จึงมีแผนงานต่อยอดโครงการนี้เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้สิทธิของตัวเองต่อการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมที่ใช้บริการมือถือ ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตัวเองในการไม่ละเมิดสิทธิของผู้บริโภคและเรียนรู้การเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมือถือด้วยเช่นกัน ดังนั้นสำนักงาน กสทช.ร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรมจึงจะจัดงานสัมมนาเรื่อง “การไกล่เกลี่ยกับทางเลือกใหม่ของการระงับข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการโทรคมนาคม” ในวันพุธที่ 26 ธันวาคม 2555 ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ เพื่อแนะนำกลไกการไกล่เกลี่ยในด้านโทรคมนาคมให้เป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้นแก่ผู้บริโภคในการระงับข้อพิพาทที่มีต่อผู้ประกอบการโทรคมนาคม ตลอดจนสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
“มีความเข้าใจอย่างผิดๆว่า การนำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้เป็นการเลี่ยงไม่บังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายด้านโทรคมนาคมเพื่อเป็นการช่วยผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นเรื่องที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก เพราะแท้จริงแล้วกลไกไกล่เกลี่ยได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นกลไกระงับข้อพิพาททางเลือกที่มีประสิทธิภาพที่สุด และจะช่วยให้การบังคับกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะช่วยรองรับเรื่องร้องเรียนในยุค 3 จี อย่างได้ผล โดยจะดำเนินการในเรื่องนี้ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกลไกรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคมากที่สุด” ดร.สุทธิพล กล่าวทิ้งท้าย