กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--TBCSD
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ TBCSD แถลงข่าวการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวภายในองค์กร และประสานความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ฉลากสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการผลักดันให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวในภาคธุรกิจ
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) เปิดเผยว่าภาคธุรกิจนับเป็นภาคีที่สำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก เนื่องจากเป็นผู้เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตและให้บริการ อีกทั้งยังเป็นผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ ทำให้กระบวนการผลิตต้องมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพื่อผู้ผลิตสามารถใช้กลไกทางการตลาดเป็นเครื่องมือการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินชีวิตของคนเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็น นั่นคือการอุปโภค-บริโภคทรัพยากรธรรมชาติที่มากเกินพอดี ส่งผลให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น อันเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดสภาวะโลกร้อน จึงเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ด้วยเหตุนี้เองหลายประเทศจึงได้มีการดำเนินแนวความคิดภายใต้การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นการสร้างกลไกในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการผลักดันนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะทวีปยุโรปซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความตื่นตัวในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก จึงกำหนดให้มีมาตรการในการแสดงฉลากรับรองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสินค้า เช่น Carbon Footprint, Blue Angel หรือ EU-Flower เป็นต้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าสินค้านั้นๆมีการผลิตที่เอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การใช้งาน จนถึงขั้นตอนการกำจัดของเสีย โดยกลุ่มสหภาพยุโรปถือเป็นผู้นําด้านการปรับกฎระเบียบต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าในตลาดโลก อาทิเช่น ระเบียบของการผสมสารอันตรายในสินค้า ระเบียบเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อซากสินค้าที่หมดอายุ เป็นต้น นอกจากนี้ในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ได้มีการประกาศใช้กฎหมายด้านการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวที่พัฒนาให้ทัดเทียมกับสหภาพยุโรป แต่เป็นมาตรการแบบสมัครใจและประกอบด้วยข้อบังคับที่กลุ่มอุตสาหกรรมควบคุมกันเอง
ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวว่า ปัจจุบันสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในเวทีการค้าโลกมากขึ้น โดยประเทศต่างๆทั่วโลกต่างออกนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่เป็นข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์ที่จะส่งออกหรือซื้อขายภายในและระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น สำหรับประเทศไทย แนวความคิดและมาตรการดังกล่าวถือว่ายังอยู่ในวงจำกัด และไม่ได้รับความนิยมนัก ทำให้การผลักดันสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชน ทั้งจากผู้ผลิตในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่-ขนาดกลาง และระดับชุมชน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสร้างอุปสงค์-อุปทานของสินค้าและบริการต่างๆของตลาดภายในประเทศ ให้หันมาตระหนักและรับทราบถึงแนวทางในการดำเนินงานต่างๆอันจะช่วยกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้ริเริ่มดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการให้การรับรองสินค้าต่างๆที่ผ่านการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น ฉลากเขียว ซึ่งเป็นฉลากที่รับรองให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยตลอดทั้งกระบวนการผลิต เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ในชนิดเดียวกัน ซึ่งในขณะนี้โครงการฉลากเขียวได้ให้การรับรองผลิตภัณฑ์ทั้งหมดไปแล้วกว่า 158 ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีโครงการฉลากลดคาร์บอน เพื่อสร้างความตระหนักและเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการได้มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติแล้วทั้งสิ้น 139 ผลิตภัณฑ์
และเพื่อเป็นการเสริมสร้างให้ผู้บริโภคคำนึงถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านการเลือกใช้สินค้าและบริการ จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะด้านธุรกิจเอกชน ทั้งจากผู้ผลิตและธุรกิจอื่นๆ ให้ร่วมกันส่งเสริมสินค้าและบริการสีเขียวให้ขยายวงกว้างสู่สังคมไทยมากยิ่งขึ้น โดยในฐานะผู้ผลิตสินค้าที่ได้รับการรับรองฉลากที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถใช้เป็นเครื่องมือด้านการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์ถึงความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม อันจะก่อให้เกิดความตื่นตัวของสังคมและสร้างจุดขายให้แก่สินค้านั้นๆอีกด้วย และในแง่ของผู้บริโภค องค์กรเอกชนต่างๆสามารถวางนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวสำหรับสินค้าหรือบริการที่ได้รับการรับรองด้านสิ่งแวดล้อมประกอบไปด้วย ก็จะยิ่งก่อให้เกิดการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้นและยั่งยืนต่อไปในอนาคต