กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
ไทยชูการ์ มิลเลอร์ เผยความคืบหน้าการผลิตน้ำตาลทรายฤดูการผลิต 55/56 ตั้งแต่ 15 พ.ย. - 24 ธ.ค. รวม 40 วัน พบค่าความหวานและผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยลดลง เหตุฝนน้อยและสภาพอากาศหนาวมาถึงช้ากว่าปกติ ฉุดคุณภาพผลผลิตอ้อยตก เร่งปรับตัวโดยให้ฝ่ายไร่และชาวไร่เช็คค่าความหวานของอ้อยเพื่อจัดลำดับแปลงที่เหมาะสมก่อนตัด อีกทั้งยังสามารถบริหารจัดการรถตัดอ้อยอย่างเหมาะสมได้ “สิริวุทธิ์” แนะชาวไร่อ้อยเตรียมตัวสำหรับฤดูเพาะปลูกต่อไปด้วย หวั่นเจอภัยแล้งอีก ต้องเร่งบำรุง ให้น้ำแต่เนิ่นๆ
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2555/2556 ว่านับตั้งแต่ที่โรงงานน้ำตาลทรายได้เปิดหีบอ้อยวันแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน จนถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2555 รวม 40 วัน พบว่า ปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลทรายเปิดรับผลิตอ้อยจากชาวไร่เข้าหีบแล้ว 49 โรงงาน โดยมีอ้อยเข้าหีบแล้ว 15.88 ล้านตัน สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ 12.74 ล้านกระสอบ หรือคิดเป็นผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยอยู่ที่ 80.23 กิโลกรัมต่อตันอ้อย โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ยิลด์สูงสุดที่ 87.62 กิโลกรัมต่อตันอ้อย รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออก มียิลด์ 79.26 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ภาคกลางมียิลด์ 74.29 กิโลกรัมต่อตัน และภาคเหนือ 72.77 กิโลกรัมต่อตันอ้อย โดยมีสัดส่วนปริมาณอ้อยไฟไหม้เฉลี่ยอยู่ที่ 60% และอ้อยสด 40%
ทั้งนี้ เมื่อดูผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงระยะเวลาหีบอ้อยที่เท่ากัน จะพบว่า ผลผลิตอ้อยในฤดูการหีบอ้อยปี 55/56 มีคุณภาพลดลง โดยผลผลิตน้ำตาลทรายต่อกิโลกรัมโดยเฉลี่ยลดลงจาก 88.46 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เหลือเพียง 80.23 กิโลกรัมต่อตันอ้อย หรือลดลง 8.23 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ขณะที่ค่าเฉลี่ยความหวานของผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปีนี้ก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งปรับลงจากปีก่อนที่มีค่าความหวานเฉลี่ย 10.80 ซี.ซี.เอส. เหลือเพียง 10.13 ซี.ซี.เอส.เท่านั้น
“ปริมาณอ้อยที่ตัดเข้าหีบปีนี้กับปีก่อนใกล้เคียงกัน คือ ปีก่อนได้ 16.48 ล้านตัน ปีนี้ได้ 15.99 ล้านตัน แต่ตัวเลขที่น่าเป็นห่วงคือค่าความหวาน หรือC.C.S. ซึ่งปรับลงมาก จะเห็นว่ามีเพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้นที่ทำได้เกิน 10 ซี.ซี.เอส. ภาคอื่นๆ แทบจะไม่มีเลย ทำให้การผลิตน้ำตาลจากอ้อยที่เข้าหีบในช่วงนี้ได้ผลผลผลิตต่ำ ทั้งนี้ ก็เกิดจากสภาพอากาศ คือปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าที่ต้องการ ทำให้ได้อ้อยต้นสั้นและฤดูหนาวที่มาช้า ทำให้อ้อยไม่สามารถสร้างน้ำตาลได้เต็มที่” นายสิริวุทธิ์ กล่าว
นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า เมื่อพบว่า ต้นฤดูหีบอ้อยเป็นเช่นนี้ ก็ได้สื่อสารกับโรงงานและชาวไร่อ้อยในการปรับตัว โดยการจัดลำดับก่อนหลังในการตัดอ้อย ซึ่งฝ่ายไร่ของโรงงานน้ำตาลและชาวไร่ จะพยายามตรวจเช็คค่าความหวานก่อนตัด หากแปลงใดยังมีค่าความหวานน้อยมากก็จะปล่อยไว้ก่อน ยกเว้นหากต้นอ้อยออกดอกจะต้องตัดทันที เพราะหากปล่อยไว้จะทำให้ได้น้ำตาลน้อย นอกจากนี้ ก็ต้องบริหารการใช้รถตัดอ้อย และนำรถตัดอ้อยมาใช้ให้มากขึ้น เพื่อจัดส่งผลผลิตอ้อยสะอาดเข้าสู่โรงงาน ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยได้มากขึ้น
“ในฤดูกาลผลิตปีหน้าก็ยังวางใจไม่ได้ อาจจะเกิดภัยแล้งขึ้นก็ได้ ดังนั้น ชาวไร่อ้อยที่ได้จัดเก็บผลผลิตไปแล้ว อยากให้ดูแลตออ้อยด้วย โดยการให้น้ำกับตออ้อยและดิน เพื่อเป็นการบำรุงพันธุ์ให้พร้อมเจริญเติบโตเป็นอ้อยที่มีคุณภาพเพื่อรองรับฤดูการหีบในปีถัดไป” นายสิริวุทธิ์ กล่าว