กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--ทริปเปิล เอท ไอเดียส์
โครงการที่อยู่อาศัยจำนวนมากขยายตัวออกมาจากกรุงเทพมหานคร จากพื้นที่ชานเมืองได้ขยายเข้าไปสู่พื้นที่ในจังหวัดใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานครในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตามแนวถนนสายหลัก เช่น ถนนพระรามที่ 2 ถนนศรีนครินทร์ และบางนา — ตราด ในจังหวัดสมุทรปราการ ถนนราชพฤกษ์ ในจังหวัดนนทบุรี ถนนพหลโยธิน และถนนรังสิต — นครนายก ในจังหวัดปทุมธานี รวมทั้งถนนวงแหวนรอบนอก ที่สามารถเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็ว
นายสุรเชษฐ กองชีพ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้รายงานว่า “จำนวนประชากรในพื้นที่ตามแนวถนนเหล่านี้ รวมทั้งพื้นที่โดยรอบได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยังคงเติบโตต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นปัจจัยที่ดึงดูดผู้ประกอบการพื้นที่ค้าปลีกทุกประเภทให้เข้ามาพัฒนาโครงการพื้นที่ค้าปลีก โดยผู้ประกอบการพื้นที่ค้าปลีกต่างๆ ต้องการที่จะพัฒนาโครงการใกล้กับกลุ่มลูกค้าในพื้นที่เหล่านี้ ดังนั้นจึงมีโครงการพื้นที่ค้าปลีกจำนวนมากเปิดให้บริการตามแนวถนนสายหลักในพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพมหานคร พื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพมหานครมีอยู่ประมาณ 5.78 ล้านตารางเมตร แต่ถ้ารวมพื้นที่ค้าปลีกที่อยู่ในพื้นที่รอบนอกรุงเทพมหานคร ในจังหวัดใกล้เคียงจะมากกว่า 6.4 ล้านตารางเมตร ”
โครงการพื้นที่ค้าปลีกโดยส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และพื้นที่โดยรอบ จะตั้งอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพรอบนอก โดยเฉพาะในจังหวัดที่ติดกับกรุงเทพมหานคร นายสุรเชษฐ ได้กล่าวถึงทำเลที่ตั้งของพื้นที่ค้าปลีกในเขตกรุงเทพมหานคร และพื้นที่โดยรอบว่า “ประมาณ 53% ของพื้นที่ค้าปลีกทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร และพื้นที่โดยรอบ หรือประมาณ 3.39 ล้านตรางเมตร ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพรอบนอก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพรอบนอกทิศตะวันออกที่มีมากกว่า 1.5 ล้านตารางเมตร ในขณะที่ประมาณ 11% หรือเกือบ 7 แสนตารางเมตรเท่านั้นที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพรอบนอกทิศตะวันตก”
ถึงแม้ว่าคอมมูนิตี้มอลล์จะเป็นประเภทของโครงการพื้นที่ค้าปลีกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร และจะมากกว่าพื้นที่รวมของไฮเปอร์มาร์เก็ตในปีหน้า แต่ถ้ารวมพื้นที่รอบนอกรุงเทพมหานครด้วยแล้วนั้น ไฮเปอร์มาร์เก็ตยังคงมีสัดส่วนที่มากกว่า “เนื่องจากไฮเปอร์มาร์เก็ต และศูนย์การค้าไม่สามารถพัฒนาโครงการใหม่ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น การขาดแคลนที่ดินขนาดใหญ่ รวมทั้งข้อจำกัดในการพัฒนาเนื่องจากผังเมือง กฎระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ คอมมูนิตี้มอลล์จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของผู้ประกอบการ แต่พื้นที่ในจังหวัดอื่นๆ รอบกรุงเทพมหานครนั้นผ่อนปรนในเรื่องของกฎเกณฑ์มากกว่า ดังนั้นไฮเปอร์มาร์เก็ตจำนวนมากเปิดให้บริการในพื้นที่เหล่านี้ นอกเขตกรุงเทพมหานคร แต่ว่าสำหรับคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพรอบนอกนั้นยังคงใช้เวลาในการเดินทางไม่นาน” เขากล่าวเพิ่มเติม
“นอกจากนี้ยังมีโครงการสเปเชี่ยลตี้สโตร์อีกหลายโครงการ เช่น โฮมโปร โฮมเวิร์ค อินเด็กซ์ ลิฟวิ่ง มอลล์ และเอสบี ดีไซน์ สแควร์ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีโครงการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อในอนาคต จำนวนข้องที่อยู่อาศัย และประชากรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา”
ประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ
โครงการพื้นที่ค้าปลีกที่เปิดให้บริการมานานต่างก็มีแผนในการปรับปรุงโครงการของตัวเอง นายสุรเชษฐ กล่าวว่า “โครงการพื้นที่ค้าปลีกที่มีอายุมากกว่า 10 ปี ต่างก็มีแผนในการปรับปรุง และปรับเปลี่ยนผู้เช่า รวมทั้งมีการเพิ่มเติมร้านค้าแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาในโครงการ เพราะว่าโครงการที่สร้างเสร็จใหม่ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการออกแบบที่น่าประทับใจ และมีผู้เช่าที่น่าดึงดูดใจมากกว่า โครงการพื้นที่ค้าปลีกดั้งเดิมจึงต้องมีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน”
นายสุรเชษฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า “จังหวัดสำคัญในภาคอื่นๆ ของประเทศไทยได้กลายเป็นเป้าหมายใหม่ของผู้ประกอบการพื้นที่ค้าปลีกรายใหญ่ โดยเฉพาะจังหวัดตามแนวชายแดนของประเทศไทย ซึ่งรวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ที่ดึงดูดลูกค้าจากประเทศลาว และพม่า จังหวัดอุดรธานีที่มีชาวลาว และเวียดนามข้ามพรมแดนมาซื้อของ รวมทั้งหาดใหญ่ในจังหวัดสงขลาที่มีชาวมาเลเซียเข้ามาซื้อสินค้า นอกจากนั้นผู้ประกอบการยังคงขยายไปยังจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ และเมืองขนาดใหญ่รอบๆ ประเทศไทยด้วยรูปแบบที่แตกต่างกัน”
“ร้านสะดวกซื้อได้กลายเป็นสนามแข่งขันใหม่ในธุรกิจค้าปลีก ภายหลังจากที่ กลุ่มเซ็นทรัล โดย ซีอาร์ซี ได้เข้าซื้อกิจการของร้านแฟมิลี่มาร์ทในประเทศไทย แม้ว่าเซเว่นอีเลฟเว่นจะเป็นเจ้าตลาดอยู่ แต่ว่ายังคงมีช่องว่างให้เติบโตได้อีกในอนาคต ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ให้ความสำคัญกับตลาดร้านสะดวกซื้อมากขึ้นโดยมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนสาขาให้มากขึ้นทั่วประเทศไทย” นายสุรเชษฐกล่าวเพิ่มเติม