ข่าวจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยจากงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วทท.)ครั้งที่ 30

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday October 26, 2004 13:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
ปัญหาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
งานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วทท.) ครั้งที่ 30 ณ อิมแพค เมืองทองธานี
นายพิศาล สร้อยธุหร่ำ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชี้แจงถึงปัญหาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยว่า ปัญหาที่สำคัญ 3 ประการที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยที่มีน้อยมาก เพียง 1.1 เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่มีเวลาเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ถึง 15-25 % จากเวลาที่ใช้ในการเรียนการสอนทั้งหมด ดังนั้นหากประเทศไทยยังไม่เพิ่มเวลาที่ใช้ในการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น ก็คงจะไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ 2. ขาดแคลนทรัพยากรที่ใช้ในการเรียนการสอน และ 3. เรื่องของการวัดและประเมินผลการเรียนการสอนซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุด เนื่องจากการวัดผลจะเป็นสิ่งที่ครูและนักเรียนทุกคนพยายามจะให้เป็นไปตามนั้น ดังนั้นถ้าหากเราอยากให้เด็กของเราเป็นอย่างไร เช่น ให้เป็นคนช่างคิด และมีทักษะ ครูก็จะต้องสอบและประเมินผลทางความคิดและทักษะตามที่กำหนดไว้ เป็นต้น แต่ถ้าหากการประเมินผลเน้นไปที่ความจำ การเรียนการสอน และการเรียนรู้ของนักเรียนก็จะเป็นไปในลักษณะท่องจำ ทำให้นักเรียนขาดทักษะและความคิด ดังนั้นหากการแก้ปัญหาการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ให้ประสบผลสำเร็จ ก็จะต้องใช้ความสำคัญกับอุปสรรคสำคัญทั้ง 3 ประการนี้
แนวโน้มการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในอนาคตนั้น หลังจากปี ค.ศ. 2000 ไปแล้ว สิ่งสำคัญที่ควรเน้นในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ศาสตร์นั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 อย่างคือ 1. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 2. ความสามารถในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง และ 3. ในเรื่องของการสื่อสารข้อมูลไปยังผู้อื่น
สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาสำหรับครูวิทยาศาสตร์ที่ขาดแคลนสิ่งที่ใช้ในการสอนนั้น สามารถแก้ไขได้โดยประยุกต์ใช้สื่อการสอนตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว เช่น ต้นไม้ ดิน ฟ้าอากาศ ฯลฯ โดยไม่จำเป็นต้องไปพึ่งพาวัสดุอุปกรณ์การสอนที่มีราคาแพง หรือต้องซื้อหามาเท่านั้น และสิ่งสำคัญที่ครูวิทยาศาสตร์ทุกคนควรจะเน้นก็คือการเรียนการสอนที่เน้นทักษะและความคิด วิเคราะห์ให้มากขึ้น โดยอาจขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัย หรือโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีทรัพยากร ให้เข้ามาสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอน ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ไปได้มาก
สำหรับการเผยแพร่เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์นั้น สื่อมวลชนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการเผยแพร่เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ประชาชนเข้าใจ และเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์มากขึ้น
บ้านในฝัน
เด็กนักเรียนมัธยมต้น จังหวัดอุดรธานี ก้าวหน้า จัดทำเครื่องควบคุมการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านได้สารพัดเพื่ออำนวยความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่าย
ด.ช.บุญฤทธิ์ สมเชี่ยววงศ์กุล ชี้แจงว่า เร่องบ้านในฝัน จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาการนำภาษา Pascal มาใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยผ่านโปรแกรม Delh\phi ไปประยุกต์ใช้กับคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมการเปิด-ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น การเปิด-ปิดของหลอดไฟฟ้า พัดลม โทรทัศน์ การทำงานของเครื่องเป่าผม การทำงานของโทรศัพท์ สัญญาณกันขโมย การควบคุมเครื่องรดน้ำต้นไม้โดยอัตโนมัติ และการปิดเปิดประตูบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่าย
คณะผู้จัดทำประกอบด้วยตนและ ด.ช.ภนุรุจ เสนางคนิกร กับ ด.ญ.นันทรัตน์ มงคลไชย โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมี น.ส.สุภาพร ครูหาทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา คณะผู้จัดทำได้ออกแบบบ้านในฝันให้มีขนาดกว้างและยาวประมาณ 50 ซม. สูง 25 ซม. โดยใช้พลาสติกทำผนังบ้านและหลังคา เพื่อให้สามารถมองเห็นภาพภายในบ้านได้ โดยมีการออกแบบวงจรอินเทอร์เฟส วงจรรับแสงอินฟาเรด และมีการเขียนโปรแกรมควบคุมการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ผลการทดลองการทำงานของระบบควบคุมบ้านในฝัน สามารถควบคุมการเปิด-ปิดหลอดไฟ พัดลม โทรทัศน์ การทำงานของเครื่องเป่าผม การทำงานของโทรศัพท์ สัญญาณกันขโมยและการเปิด-ปิดประตูบ้าน การสั่งการของเครื่องใช้ไฟฟ้าดังกล่าวมีความแม่นยำ ตรงเวลา รวดเร็ว สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเสนอโครงการวิจัยนี้ มีขึ้นในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 30 ซึ่งจัดที่ ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2547
กำจัดสารพิษตกค้างโดยวิธีทางชีวภาพ
น.ส.นิศารัตน์ ทุยเวียง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน กำลังประสบปัญหามลภาวะ เนื่องจากสารพิษชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะสารที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของกลุ่มปิโตรเลียมและน้ำมัน นั่นคือสารโพลีไซคลิอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารพิษกลุ่มใหญ่ที่มีความเป็นพิษค่อนข้างร้ายแรง คืออาจก่อให้เกิดมะเร็ง การเปลี่ยนแปลงของยีนจึงจำเป็นต้องหาทางกำจัดสารพิษ โดยนำจุลินทรีย์ซึ่งสามารถใช้สารประกอบดังกล่าวเป็นแหล่งของคาร์บอนและพลังงานมาช่วยในการย่อยสลาย จากการทดลองได้คัดเลือกจุลินทรีย์สายพันธ์ N1 จากบริเวณที่มีการปนเปื้อนของสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนสะสมอยู่ในดินเป็นเวลานาน ในเขตจังหวัดพะเยา น่าน และเชียงราย
น.ส.นิศารัตน์ กล่าวต่อไปว่า จากการทดลองพบว่าเชื้อสายนี้สามารถย่อยสลายสาร 0.2 % ได้แก่ ไฮเบนโซทิโอเพน แอนทราเซน คาร์บาโซล ไพเรน พีนันเทรน ที่อุณหภูมิ 50 องศาเซ็นติเกรด ได้ และสามารถย่อยสลายสาร ไดเบนโซทิโอเพน ได้ดีและเร็วที่สุด โดยวัดความขุ่นที่ OD 660 ได้เท่ากับ 0.048 หลังจากการเจริญมาถึงวันที่ 4 ความเร็วรอบในการเขย่าที่ 200 รอบต่อนาที อุณหภูมิ 50 องศาเซนติเกรด จุลินทรีย์แสดงคุณสมบัติเป็นแบคทีเรียแกรมบวก รูปท่อนสั้น ไปสร้างสปอร์โคโลนีสีขาว ขอบเรียบนูนบริเวณกลางโคโลนี จากการวิจัยครั้งนี้ทำให้สามารถนำข้อมูลเบื้องต้นไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในด้านการกำจัดสารพิษตกค้าง การบำบัดน้ำเสียในระดับอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการวิจัยในด้านการกำจัดสารพิษตกค้างโดยทางชีวภาพต่อไป เพื่อควบคุมมิให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม การทดลองนี้มี รศ.ดร.ยุวดี วัฒนโภคาสิน และ รศ.สุมาลี เหลือสกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
การเสนอโครงการวิจัยนี้ มีขึ้นในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 30 ซึ่งจัดที่ ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2547
การหมักปุ๋ยจากวัชพืชโดยเทคนิคการเติมอากาศ
งานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วทท.) ครั้งที่ 30 ณ อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2547
นายธีรพงษ์ สว่างปัญญางกูล นักวิจัยสาขาสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้ทำการศึกษาการหมักปุ๋ยจากวัชพืชโดยการเติมอากาศ ด้วยวิธีการใช้ท่อพีวีซีปักกลางกองปุ๋ยหมัก แล้วใช้พัดลมเติมอากาศเป่าวันละ 2 ครั้ง ๆ ละ 2 นาทีตอนเช้าและตอนเย็น หมักปุ๋ยจากเศษพืช ใบไม้แห้งและมูลโค ในอัตราส่วน 1:1:1 โดยใช้เครื่องย่อยเศษพืชให้มีขนาด 1-3 นิ้ว แล้วหมักในโครงสร้างที่หุ้มด้วยตาข่าย เติมปุ๋ยยูเรียเป็นหัวเชื้อตามคำแนะนำของกรมพัฒนาที่ดิน พัดลมเป่าอัดอากาศ จะช่วยเติมอากาศผ่านท่อพีวีซี เข้าไป ความร้อนที่เกิดจากการย่อยสลายของจุลินทรีย์จะลอยตัวขึ้นตามธรรมชาติ ทำให้อากาศเย็นไหลเข้าไปแทนที่ได้ กองปุ๋ยหมักสูง 1 เมตร ความร้อนจะเกิดการสะสมแล้ว ค่อย ๆ ย่อยสลายกองปุ๋ยหมักให้ได้ที่ภายในระยะเวลา 30 วัน โดยไม่ต้องกลับกองปุ๋ย ซึ่งการพลิกกลับกองปุ๋ยจะทำให้สูญเสียธาตุไนโตรเจน การใช้พัดลมเติมอากาศสามารถขยายกองปุ๋ยได้จำนวนมาก ถึง 30 กอง ซึ่งได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้แก่เกษตรกรแล้ว
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ตั้งศูนย์เพื่ออบรม เผยแพร่ความรู้แก่ชุมชน ซึ่งในปัจจุบันใบไม้แห้งในมหาวิทยาลัย ได้ถูกนำมาทำปุ๋ยหมัก โดยใช้เทคนิคการเติมอากาศ อันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่ชุมชนสามารถนำไปผลิตปุ๋ยหมักเป็นอาชีพเสริมได้ปริมาณมาก ในระยะเวลาอันสั้น และได้ปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพ สำหรับเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี
การใช้ประโยชน์น้ำกากส่าจากโรงงานสุรา
งานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วทท.) ครั้งที่ 30 ณ อิมแพคเมืองทองธานี ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม 2547
นางทัศนีย์ ดิษฐกมล และนายสมบูรณ์ แก้วปิ่นทอง และคณะผู้วิจัยจากสาขาสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่า จากการทำการวิจัยศึกษาเพื่อลดปัญหาน้ำกากส่าจากโรงงานสุราที่เป็นน้ำทิ้ง นำไปใช้ประโยชน์ในการปลูกข้าว ทำให้เกิดผลดีต่อเกษตรกร ผู้วิจัยได้แนะนำให้เกษตรกรทราบว่า น้ำกากส่าจากโรงงานสุรามีประโยชน์ในการปลูกข้าว ให้ผลผลิตข้าวดี เมื่อใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี โดยปริมาณน้ำกากส่า 40 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ และใช้ปุ๋ยเคมี 15 กก./ไร่ จากการสำรวจโดยให้เด็กนักเรียนช่วยในการอธิบายแก่เกษตรกรในการกรอกแบบสอบถาม หลังการใช้น้ำกากส่าปลูกข้าว ปรากฏว่าเกษตรกร 97 % เห็นด้วยในการนำน้ำกากส่าไปใช้ประโยชน์ในการปลูกข้าว เกษตรกรมีส่วนร่วมและพึงพอใจในการใช้น้ำกากส่า และยังเป็นการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ในสาขาสิ่งแวดล้อม ในฤดูแล้งที่ขาดน้ำในการเพาะปลูกพืชเกษตร น้ำกากส่าจึงถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้ดี นอกจากนี้ยังนำไปใช้ในการปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ใช้ทำปุ๋ยอินทรีย์ และยังเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย
ผลผลิตข้าวที่ได้จาการใช้ประโยชน์จากกากส่า มีเปอร์เซ็นต์เมล็ดที่สมบูรณ์ดี มีจำนวนมาก และมีปริมาณเมล็ดเสียน้อย การเจริญเติบโตของต้นข้าวเจริญไปพร้อม ๆ กัน และคุณภาพของเมล็ดข้าวที่ได้จาการปลูกโดยน้ำกากส่า จะเป็นข้าวที่มีความนุ่มและมีกลิ่นหอมกว่าปกติ
ผลการแข่งขันโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4
สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดงานแข่งขันโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 โดยได้คัดเลือกผลงานนวัตกรรมจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศไทย เพื่อนำมาคัดเลือกในการแข่งขันระดับประเทศ ซึ่งได้จัดขึ้นในงานวันเทคโนโลยีของไทย และงานฉลองสมโภช 200 ปี แห่งการพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม 2547 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี โดยแข่งขันใน 3 สาขา มีผลการแข่งขัน คือ
สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ รางวัลชนะเลิศ โครงการ S -16 ต้นแบบซอพต์แวร์การเจริญของ Spirul ina platensis โดย นายพันธุ์วงศ์ คุณธนะวัฒน์ และนายอารยะ สวัสดิชัย จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองอันดับ 1 โครงการ S-11 การทำให้โฟมและยางพื้นรองเท้ายึดติดกันโดยไม่อาศัยกาว โดย นายสราวุฒิ ช่วงโชติ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร รองอันดับ 2 โครงการ S -04 ผลิตภัณฑ์คล้ายเส้นสปาเกตตีจากแป้งข้าวจ้าวโดยกระบวนการเอ็กซ์ทรูชัน โดย น.ส.พรพิมล เสรีวัฒน์ น.ส.ศิริรัตน์ สุเมธลักษณ์ และ น.ส.จันทร์กวี สุทธิพินิจธรรม จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ รางวัลชมเชย 2 รางวัล คือ โครงการ S -02 มะเขือผง โดยนายเปาว์ คงสุนทรกิจกุล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โครงการ S-06 ข้าวเพื่อน้ำมัน โดย นายศิวเรศ อารีกิจ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ชนะเลิศ โครงการ E-08 เครื่องตัดเสาเข็ม โดย นายภานุมาศ ศุภกุล นายสิริศักดิ์ ดุษฎีวนิช และนายพรรษวัฒน์ หลิมสกุล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รองอันดับ 1 โครงการ E -26 ระบบจ่ายน้ำอัตโนมัติ โดย นายเรวัตร ใจสุทธิ และ นางสาวขนิษฐา จิระมงคล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองอับดับ 2 มี 2 รางวัล คือ โครงการ E-17 เครื่องเก็บรับไหมจากจ่อไม้ โดย นายทนงศักดิ์ พงษ์ศรี ว่าที่ ร.ต.ศักดิ์ดา ภาษี นานรักอนุชา คำถา และ ว่าที่ ร.ต.เข็มพร แก้วสงค์ จากมหาวิทยาลัยเพชรบูรณ์ และ โครงการ E-30 โปรแกรมแปลงอักษรเบรลล์ภาษาไทยให้เป็นรหัสแอสกี โดย นางสาวศันสนีย์ บุญสนอง จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รางวัลชมเชย 4 รางวัล คือ 1. โครงการ E-13 ปั๊มจนหมดหนี้ โดย นายปัญญาวุฒิ เจียมประเสริฐ นายณรงค์ฤทธิ์ ธรรมประดิษฐ์ นายณัฐพล โชคบุญมงคล และ นายดิฐพงศ์ ทองคำ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 2. โครงการ E-01 แผ่นระบายความร้อนจาก Notebook โดย นางสาวธนิษฐา พูนสิน และนายคธาวุธ คุ้มภัย จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 3. โครงการ E-05 i-Can-Coolz โดย นายพิพัฒน์ ศรีปิติวิทยา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และ 4. โครงการ E-21 เครื่องกำเนิดไฟฟ้าคลื่นหัวใจ 12 ลีด แบบหลายรูปคลื่น โดย นายเกียรติศักดิ์ โยชะนังและนายชาตรี ทับทอง จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
สาขาสร้างเสริมสุขภาพ ชนะเลิศ โครงการ HP -01 เครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองแบบพกพา โดย นายณรงค์ชัย ทองน้อย จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร รองอันดับ 1 โครงการ HP-04 การตั้งตำรับน้ำตาเทียมจากไคโตซานเจล โดย นางสาวนิจพร ญาณสาร และนายกานต์ เวียรศิลป์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองอันดับ 2 โครงการ HP -07 การพัฒนาตำรับแผ่นฟิล์มละลายได้สำหรับอมที่ส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรไทยเพื่อใช้ระงับกลิ่นปาก โดย นายธีรภัทร เหลี่ยมวานิช จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สาขานวัตกรรมเชิงธุรกิจ ชนะเลิศ 3 รางวัล ได้แก่ 1.โครงการ E-27 เครื่องให้อาหารสุนัขอัตโนมัติโดยใช้ PLC นำโดยนายนราธิป โยธาศิริและคณะผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ2. โครงการ E-12 เครื่องแยกชนิดเศษพลาสติก โดย นายสธน กิตยาภรณ์ นายจุฬพงษ์ พานิชเกรียงกร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 3.โครงการ E-23 ระบบนำร่องบนโทรศัพท์มือถือ โดย นายกิตติชัย วิวัฒนานันต์ และนายกิตติเดช ตั้งเรืองวงศ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองชนะเลิศ 2 รางวัล ได้แก่โครงการ E-01 แผ่นระบายความร้อนสำหรับ notebook และโครงการ HP-01 เครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองแบบพกพา--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ