กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--เอแบคโพลล์
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง "ความเสี่ยงอันตรายบาดเจ็บที่ศีรษะในอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์จากการไม่สวมหมวกกันน็อค" กรณีศึกษาประชาชนผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ในเขตกรุงเทพมหานคร
เนื่องด้วยผลการศึกษาเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่พบว่า รถมอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุมากที่สุดและมักจะมีประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นายแพทย์ไพฑูรย์ บุญมา ประธานศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ร่วมกับ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จึงได้ร่วมกันดำเนินโครงการวิจัยเพื่อศึกษาถึงความเสี่ยงอันตรายจากอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ขึ้นมา
นายแพทย์ไพฑูรย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บทางศีรษะในอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์และเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นจำนวนมากและงานวิจัยของเอแบคโพลล์ครั้งนี้ก็ชี้ให้เห็นว่าประชาชนที่ใช้รถมอเตอร์ไซค์และสวมหมวกกันน็อคให้ถูกวิธีจะช่วยลดอันตรายจากการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ แต่ผลสำรวจที่ค้นพบน่าตกใจตรงที่ประชาชนยังไม่ตระหนักถึงอันตรายมากเพียงพอเพราะคิดว่าจะไม่เกิดกับตัวเองและคิดว่าเดินทางระยะใกล้ๆ คงไม่เป็นอันตราย แต่ในความเป็นจริงอันตรายจากอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ในทุกวินาที
นอกจากนี้ นายแพทย์ไพฑูรย์ ยังกล่าวต่อไปว่า เด็กเล็กเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและน่าเป็นห่วงมากที่สุดเพราะไม่สวมหมวกกันน็อคเนื่องจากไม่มีขนาดที่เหมาะสมและความอ่อนแอของร่างกายยิ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงมากกว่าผู้ใหญ่อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ทางโรงพยาบาลจึงจำเป็นต้องมีคณะแพทย์เชี่ยวชาญด้านอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในหมู่ประชาชนขึ้นมา เพราะผลวิจัยพบว่าประชาชนจำนวนมากยังไม่มีความตระหนักถึงอันตรายจากการบาดเจ็บที่ศีรษะและยังคงมีพฤติกรรมเสี่ยงสูงในการใช้รถมอเตอร์ไซค์สำหรับการเดินทางในชีวิตประจำวันของพวกเขา
ในขณะที่ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง ความเสี่ยงอันตรายบาดเจ็บที่ศีรษะในอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์จากการไม่สวมหมวกกันน็อค กรณีศึกษาผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ในเขตกรุงเทพมหานครที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 836 ตัวอย่างดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 12 - 20 ธันวาคมที่ผ่านมา
ดร.นพดล กล่าวว่า ในกลุ่ม “คนขับ” มอเตอร์ไซค์รับจ้างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.9 เคยประสบอุบัติเหตุ และในกลุ่ม “คนขับ” มอเตอร์ไซค์ส่วนตัวเกินครึ่งหรือร้อยละ 52.6 เคยประสบอุบัติเหตุ เช่นเดียวกัน
ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อสอบถามถึงพฤติกรรมการสวมหมวกกันน็อคทั้งในกลุ่ม “คนขับ” และในกลุ่ม “คนซ้อนท้าย” พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.1 ของกลุ่มคนขับ และร้อยละ 94.3 ของกลุ่มคนซ้อนท้าย ระบุว่า ไม่สวมหมวกกันน็อค/สวมเป็นบางครั้ง มีเพียงร้อยละ 27.9 ของกลุ่มคนขับและร้อยละ 5.7 ของกลุ่มคนซ้อนท้ายเท่านั้นที่สวมหมวกกันน็อคทุกครั้งที่ใช้มอเตอร์ไซค์ในการเดินทาง
ยิ่งไปกว่านั้นส่วนใหญ่ของกลุ่มที่ใช้รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือร้อยละ 64.8 มีเด็กร่วมเดินทางด้วย ในขณะที่ประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มคนที่ใช้มอเตอร์ไซค์ส่วนตัวหรือร้อยละ 49.9 มีเด็กร่วมเดินทางด้วยเช่นกัน
ที่น่าเป็นห่วงอีกคือ ส่วนใหญ่ของทั้งกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างและกลุ่มมอเตอร์ไซค์ส่วนตัวคือ ร้อยละ 83.5 และ ร้อยละ 93.3 ไม่ได้ให้เด็กสวมหมวกกันน็อคหรือสวมใส่เพียงบางครั้ง
ที่น่าคิดคือ เหตุผลของการไม่สวมหมวกกันน็อคของผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์อันดับแรกหรือร้อยละ 69.3 คิดว่าไปใกล้ๆ คงไม่เป็นอันตราย รองลงมาคือร้อยละ 39.3 คิดว่าถนนหรือซอยนี้ไม่มีตำรวจ ร้อยละ 25.7 รีบไป ไม่มีเวลาสวม ร้อยละ 21.8 ระบุขับขี่ไม่สะดวกไม่คล่องตัวมองทางไม่ถนัด และรองๆ ลงไปคือ หมวกมีกลิ่นอับ ไม่สะอาด กลัวผมเสียทรง กลัวถูกขโมย เมื่อถอดแขวนไว้ที่รถ ไม่มีที่เก็บหมวก คนขับไม่มีหมวกให้สวม และคิดว่าตำรวจไม่จับ เป็นต้น
ที่น่าเป็นห่วงเช่นกันคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.9 ของคนซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และร้อยละ 54.5 ของคนซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ส่วนตัว ไม่ได้คาดสายรัดคางหมวกกันน็อคหรือคาดเป็นบางครั้ง ในขณะที่จำนวนมากหรือร้อยละ 40.1 ของคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างและร้อยละ 40.8 ของคนขับมอเตอร์ไซค์ส่วนตัวที่ไม่คาดสายรัดคางหมวกกันน็อคหรือคาดเป็นบางครั้ง
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์ค่าความเสี่ยงทางสถิติต่ออันตรายบาดเจ็บที่ศีรษะในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถมอเตอร์ไซค์พบว่า กลุ่มคนที่ “ไม่คาด” สายรัดคางของหมวกกันน็อคมีความเสี่ยงอันตรายบาดเจ็บที่ศีรษะมากกว่ากลุ่มคนที่ “คาด” สายรัดคางหมวกกันน็อคสูงถึง 6 เท่า
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนคนไทยผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ต้องตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองและผู้อื่น จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
ประการแรก เจ้าหน้าที่ตำรวจต้อง “จริงจังต่อเนื่อง” กับการว่ากล่าวตักเตือนหรือปรับผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ที่ไม่สวมหมวกกันน็อค
ประการที่สอง รัฐบาลน่าจะมีนโยบาย “หมวกกันน็อคเอื้ออาทร” และผ้ารองหมวกเวลาสวมใส่ที่ใช้ครั้งเดียวหรือนำมาซักใช้ซ้ำได้ เพื่อกระตุ้นพฤติกรรมการสวมหมวกกันน็อคและเสริมสร้างความปลอดภัยในหมู่ประชาชนที่มีรายได้น้อยในการใช้รถมอเตอร์ไซค์
ประการที่สาม รัฐบาลน่าจะมีนโยบายขยายกำลังซื้อให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น เพราะน่าจะมีโอกาสเสี่ยงอันตรายบาดเจ็บได้น้อยกว่ารถมอเตอร์ไซค์
ประการที่สี่ ภาคธุรกิจด้านการผลิตหมวกกันน็อคน่าจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้ผลิตหมวกกันน็อคสำหรับเด็กให้มากขึ้น เพราะเด็กควรได้รับความ “ใส่ใจ” จากผู้ใหญ่ในสังคมให้มากกว่าปัจจุบันนี้
ประการที่ห้า กลุ่มผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ทั่วไปต้อง “ไม่” คิดว่าคนอื่นจะเห็นรถของตัวเองขณะขับขี่ จึงจำเป็นต้องเปิดไฟหน้ารถทุกครั้งเพื่อลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นทั้งตัวเองและผู้อื่น
ประการที่หก ประชาชนผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์และผู้ใช้รถยนต์ทั่วไปควรตระหนักถึง “น้ำใจ” บนท้องถนนที่ควรมีต่อกันให้มากขึ้น
สุดท้าย ต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือ “เหล้า” โดยเด็ดขาดเพราะมันทำให้ “ขาดสติ” และเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บล้มตายได้ง่าย
คุณลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 68.3 เป็นชาย และร้อยละ 31.7 เป็นหญิง ร้อยละ 32.9 มีอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 29.9 มีอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 22.9 มีอายุ 40-49 ปี ร้อยละ 8.7 มีอายุ 50-59 ปี ร้อยละ 4.4 มีอายุ 15-19ปี และร้อยละ 1.2 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ด้านรายได้ ร้อยละ 48.9 ระบุรายได้ 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 31.1 ระบุรายได้ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 9.5 ระบุรายได้ 15,001 — 20,000 ร้อยละ 5.9 ระบุรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 3.8 ระบุรายได้ 25,001 บาทขึ้นไป และ ร้อยละ 0.8 ระบุรายได้ 20,001- 25,000 บาท ด้านการศึกษา ร้อยละ 33.2 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 31. 7 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า ร้อยละ 15.8 สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ด้านอาชีพ ร้อยละ 40.2 ระบุจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 16.3 ระบุลูกจ้าง/พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 11.8 ระบุนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 10.3 ระบุรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 9.7 ค้าขายรายย่อย/หาบเร่แผงลอย เป็นต้น