กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--กรมสรรพสามิต
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้มอบนโยบายให้กรมสรรพสามิตดูแลสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษี รวมถึงการดำเนินงานตามมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามสุราเถื่อน บุหรี่เถื่อน และน้ำมันเถื่อน และจูงใจผู้ที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาสู่ระบบภาษี ซึ่งที่ผ่านมากรมสรรพสามิตได้จัดทำแผนเฉพาะกิจปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจจากสำนักตรวจสอบ ป้องกันและปราบปราม และเจ้าหน้าที่สรรพสามิตพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมสนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองทัพเรือ เพื่อร่วมกันตรวจสอบและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตตามพื้นที่เป้าหมายที่คาดว่าอาจมีการกระทำผิด เช่น บริเวณแนวตะเข็บชายแดน แหล่งชุมชน และสถานบริการ เพื่อสร้างความเป็นธรรม โปร่งใส และความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการที่เสียภาษีโดยสุจริต และเพื่อเป็นมาตรการเสริมทางอ้อมในการดูแลสุขภาพของผู้บริโภคให้บริโภคสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากการบริโภคสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษีจะเป็นอันตรายและส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าสินค้าโดยทั่วไป
อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวต่อว่าสำหรับผลการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตในไตรมาสแรก ของปีงบประมาณ 2556 (เดือนตุลาคม 2555 — 20 ธันวาคม 2555) กรมสรรพสามิตจับกุมผู้กระทำผิดทั่วประเทศได้รวม 9,953 คดี เปรียบเทียบปรับเป็นเงินรวมจำนวนทั้งสิ้น 109.12 ล้านบาท และปรับตามคำสั่งศาลรวมจำนวน 2.77 แสนบาท โดยแบ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 จำนวน 5,906 คดี เปรียบเทียบปรับเป็นเงินจำนวน 21.48 ล้านบาท พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 จำนวน 2,863 คดี เปรียบเทียบปรับเป็นเงินจำนวน 55.80 ล้านบาท พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 จำนวน 1,168 คดี เปรียบเทียบปรับเป็นเงินจำนวน 31.84 ล้านบาท และพระราชบัญญัติไพ่ พุทธศักราช 2486 จำนวน 16 คดี ปรับตามคำสั่งศาลรวมจำนวน 2.77 แสนบาท
นายธรรมศักดิ์ ลออเอี่ยม รองอธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงจำนวนของกลางในไตรมาสแรก ของปีงบประมาณ 2556 อันประกอบด้วย 1) สุรารวมจำนวน 80,978 ลิตร แบ่งเป็น สุราในประเทศ จำนวน 76, 089 ลิตร และสุราต่างประเทศ จำนวน 4,888 ลิตร 2) นำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จำนวน 1,276,595 ลิตร 3) รถยนต์ จำนวน 13 คัน 4) รถจักรยานยนต์ จำนวน 334 คัน 5) น้ำหอม จำนวน 15,651 ขวด 6) ยาสูบรวมจำนวน 2,682,260 มวน แบ่งเป็น ยาสูบในประเทศ จำนวน 139,880 มวน และยาสูบต่างประเทศ จำนวน 2,542,380 มวน นอกจากนี้ยังมีของกลางเป็นยาเส้นปรุงอีกจำนวน 1,959,415 กรัม
“หากประชาชนท่านใดทราบเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องเสียภาษี สรรพสามิต สามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ Call center 1713 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ www.excise.go.th หรือแจ้งที่ตู้ ป.ณ. 10 เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 ซึ่งกรมสรรพสามิตจะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ และจะมอบสินบนนำจับให้ภายหลังจากคดีเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว”
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
สำนักงานเลขานุการกรม
กรมสรรพสามิต
โทร/โทรสาร 0 2241 4778
www.excise.go.th