ครม. เห็นชอบแผนปรับโครงสร้างหนี้โรงกลั่นน้ำมันระยอง ทำให้หนี้ NPL ประเทศลดลง 685 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ข่าวทั่วไป Wednesday October 27, 2004 10:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--ปตท.
โดย ให้ ปตท.ซื้อหุ้นโรงกลั่นระยอง จากบริษัทเชลล์ฯทั้งหมด และเป็นผู้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศทั้งด้านฐานะการเงิน และด้านความมั่นคงในการจัดหาพลังงาน รวมทั้งช่วยสร้างพลังร่วมระหว่างโรงกลั่นในเครือ ปตท. และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันระยะยาวในทุกสถานการณ์
นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (26 ตุลาคม 2547) ครม. ได้มีมติเห็นชอบแผนปรับโครงสร้างหนี้ ของ บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (Rayong Refinery Company Limited : RRC) ตามข้อเสนอกระทรวงพลังงาน โดยให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อหุ้น RRC 64% จาก บริษัท เชลล์ อินเตอร์ เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด (ในราคา 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ทำให้ ปตท.เป็นผู้ถือหุ้น 100% และให้ ปตท.เป็นผู้รับภาระผูกพันกับรัฐ ตามสัญญาแทน พร้อมทั้งให้ ปตท. ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้บริษัทฯมีความเข้มแข็ง และให้นำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในระยะต่อไป
สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ (Refinance) ประกอบด้วย การขอซื้อลดหนี้ให้ลดลง 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ยอดหนี้ 1,335 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หักส่วนลดหนี้ 15% เป็นเงินประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เหลือยอดหนี้คงค้าง 1,135 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ปตท.ให้เงินกู้ด้อยสิทธิ์ และ/หรือเงินทุน 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และประมาณการเงินสดที่เพิ่มขึ้นของ RRC จำนวน 235 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เป็นเงินสดจากการดำเนินการปกติ รวมกับเงินสดที่จะได้จากการเปลี่ยนเทอมซื้อน้ำมันดิบที่ปัจจุบันโรงกลั่นฯ ต้องจ่ายล่วงหน้า 2 วัน ไปเป็นเครดิตเทอม 30 วัน) สุดท้ายจะทำให้ ยอดหนี้ ของ RRC ลดลง จาก 1,335 เหลือ 650 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้หนี้ NPL ของประเทศ ลดลงประมาณ 685 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสถาบันการเงินของประเทศ ทำให้ได้รับความเชื่อถือจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และยังเป็นการ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระยะยาวให้แก่ กลุ่มการกลั่น ของ ปตท. อีกด้วย
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ RRC จะทำให้ ปตท.มีผลตอบแทนที่เหมาะสม และส่งผลให้ RRC สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ปตท. ยังมีนโยบายเพิ่มมูลค่าของโรงกลั่นโดยในระยะต่อไปมีแผนจะเจรจาควบรวมกิจการกับโรงกลั่น ของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (SPRC) ซึ่ง ปตท.ถือหุ้นอยู่ 36% และตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน และ/หรือเจรจาหากลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) ที่เหมาะสมมาซื้อหุ้น RRC เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง และ ความมั่นคงทางด้านการจัดหาให้กับการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ในระยะยาว และจะช่วยสร้างพลังร่วม (Synergy) ระหว่างบริษัทโรงกลั่นในเครือ ปตท. ที่มี บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เป็นโรงกลั่นหลักด้วย เนื่องจาก ปตท. สามารถกำหนดแนวทางการกลั่นให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับนโยบายทางการตลาดของปตท.ทั้งใน และต่างประเทศ
สำหรับ โรงกลั่น RRC เป็นโรงกลั่น Hydro Cracking ที่ทันสมัย มีกำลังการกลั่น 145,000 บาร์เรลต่อวัน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2539 มูลค่าโครงการรวม 2,250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดย เป็นส่วนของทุน 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเงินกู้ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มี ปตท. ถือหุ้น 36% และ บริษัท เชลล์ ฯ ถือหุ้น 64 % ทั้งนี้ หลังจาก ปตท. เข้าถือหุ้น RRC 100% แล้ว เมื่อรวมกับการถือหุ้นในโรงกลั่นอื่นๆ คือ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 49.54% บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด 36% และ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 8.83% จะทำให้ ปตท.มี กำลังการกลั่น จาก 226,774 บาร์เรล/วัน หรือ 22% ของกำลังการกลั่นทั้งประเทศ เป็น 319,574 บาร์เรล/วัน หรือ 32% ของกำลังการกลั่นทั้งประเทศ--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ