กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--สวทช.
สวทช. สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญระดับโลก กับผู้ผลิตกรดมะนาวอันดับ 1 ของไทย ปรับระบบการผลิต ที่ทำให้ลดค่าไฟได้ปีละกว่า 5 แสนบาท ได้ผลผลิตคุณภาพอย่างสม่ำเสมอในปริมาณที่มากขึ้น ได้รับการตอบรับจากลูกค้า ตั้งเป้าปี’48 ขยายกำลังผลิตเพิ่มถึง 2 เท่า !
“มะม่วงดอง” “อาหารกระป๋อง” “ผงซักฟอก” “เครื่องสำอาง” “ยา”ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดในท้องตลาดนี้ ล้วนใช้วัตถุปรุงแต่งชนิดหนึ่งเหมือนกัน นั่นคือ “กรดซิทริก” หรือในชื่อไทยว่า “กรดมะนาว”ปัจจุบัน อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภคในประเทศ รวมถึงการส่งออกนั้น มีความต้องการกรดมะนาวเป็นวัตถุดิบในการผลิต คิดเป็นมูลค่าปีละหลายพันล้านบาท และที่น่าดีใจคือ กรดซิทริกเหล่านี้ เกือบทั้งหมดผลิตในประเทศ จากผลผลิตทางการเกษตรของเราเอง บริษัท ไทยซิตริก แอซิด จำกัด ผู้ผลิตกรดซิตริกรายใหญ่ที่สุดของประเทศ กล่าวว่า ในแต่ละปีบริษัทจะต้องสั่งซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกรมากกว่าแสนตัน เพื่อเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกรดมะนาว“ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ทั้งอาหารคาวหวาน ผลไม้กระป๋อง รวมถึงเครื่องดื่มหลายชนิด ซึ่งการถนอมอาหารเหล่านี้ให้เก็บได้นานนั้น หากใช้ความร้อนแล้ว อาจทำให้สารอาหารบางอย่างถูกทำลายไปในขบวนการผลิตได้ ต่างจากการเก็บไว้ในภาวะที่เป็นกรด ซึ่งสามารถรักษาความสดของอาหารไว้ได้ดีกว่า และด้วยคุณสมบัติความเป็นกรดที่ช่วยยืดอายุให้กับผลิตภัณฑ์ได้นั้น ทำให้มีการผสมกรดมะนาวในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น เครื่องสำอาง ยา รวมถึงผสมในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบางยี่ห้อ เช่น น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก ทำให้ความต้องการใช้กรดมะนาวเพิ่มมากขึ้นกว่าในสมัยก่อน” ดร.เกชา ลาวัลยะวัฒน์ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ไทยซิตริก แอซิด จำกัด กล่าว
ด้วยการมองตลาดเช่นนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ บริษัท ไทยซิตริก แอซิด จำกัด เมื่อปี 2527 โดยในช่วงแรกได้นำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีในการผลิตทั้งหมดเข้ามาจากประเทศจีน เพื่อผลิตกรดซิทริกจากมันสำปะหลัง ด้วยเงินลงทุนในครั้งนั้นประมาณ 200 ล้านบาท โดยขั้นตอนการผลิตจะเริ่มจากการนำมันสำปะหลังมาทำให้เป็นผง นำไปหมักในถังหมักด้วย “เชื้อจุลินทรีย์” ที่มีประสิทธิภาพสูงในการเปลี่ยนแป้งเป็นกรดซิทริก โดยจะมีการควบคุมอุณหภูมิ ค่ากรดด่าง ออกซิเจน พร้อมทั้งมีการกวนส่วนผสมภายในถัง เพื่อให้เชื้อจุลินทรีย์ทำงานได้ดีที่สุด จากนั้นจึงไปผ่านการกรองเพื่อนำกากมันออก ตกผลึกด้วยปูนขาว และใช้ถ่านกับกรดกำมะถันละลายกรดซิตริกออกจากผลึกเกลือ ก่อนนำไปกรองแยกยิปซั่มออกไป นำของเหลวที่ได้มาเคี่ยว ตกผลึก และอบแห้ง แล้วนำไปบรรจุต่อไป (ดูภาพประกอบ)
ดร. เกชา กล่าวว่า ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา แม้ว่าทางบริษัทจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิต จนปัจจุบันสามารถสร้างเครื่องจักรในการผลิตทดแทนการนำเข้าได้เกือบทั้งหมดแล้วก็ตาม แต่ในการพัฒนาในส่วนของความรู้ในกระบวนการหมักมันสำปะหลังอย่างลึกซึ้งนั้น แทบจะหาผู้รู้จริงที่มีประสบการณ์ตรงในประเทศได้น้อยมาก
“คนที่รู้เรื่องกรดอินทรีย์ในประเทศจริง ๆ มีไม่มากนัก ส่วนอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยก็จะมีความรู้เชิงทฤษฎีเสียเป็นส่วนใหญ่ซึ่งต่างจากงานในภาคอุตสาหกรรม ทำให้ที่ผ่านมา เราทำการผลิตตามทฤษฎี ทำตามคู่มือที่มีอยู่ และใช้ประสบการณ์ตรงในการแก้ปัญหา ซึ่งปัญหาก็คือ เราไม่สามารถควบคุมกระบวนการผลิตได้ผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ แม้จะใช้วัตถุดิบแหล่งเดียวกัน วิธีการเหมือนกันทุกอย่าง แต่เปอร์เซ็นต์กรดที่ได้จะไม่สม่ำเสมอ บางทีก็ได้เปอร์เซ็นต์มาก บางทีก็ได้เปอร์เซ็นต์น้อย หรือหลายครั้งมีคุณภาพไม่ได้ตามความต้องการ ซึ่งหากเราแก้ไขจุดนี้ได้ นอกเหนือจากต้นทุนที่น่าจะลดลงแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าของเราได้เป็นอย่างดี”
เพื่อแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพและความสม่ำเสมอของผลผลิต รวมถึงเพิ่มศักยภาพบุคลากรของบริษัทให้มีความเข้าใจในกระบวนการผลิตมากยิ่งขึ้น บริษัท ไทยซิตริก แอซิด จำกัด จึงได้ขอรับการสนับสนุนด้านผู้เชี่ยวชาญ จากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อปี 2545 เพื่อจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการผลิตกรดซิตริกมาให้ความรู้กับบริษัท
นางสาววลัยรัตน์ จังเจริญจิตต์กุล ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า ภายใต้โครงการปรับปรุงคุณภาพการหมักมันสำปะหลังในการผลิตกรดมะนาว ของบริษัท ไทยซิตริก แอซิด จำกัด นั้น สวทช. ได้ร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ซึ่งมีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เพื่อจัดหาผู้เชี่ยวชาญระดับโลกที่รู้จริงในกระบวนการผลิตกรดดังกล่าวให้กับบริษัท มาปรับปรุงคุณภาพการผลิตให้กับบริษัท
“เราได้เชิญ Mr. David Solow ซึ่งมีความรู้จริงเรื่องนี้มาช่วย เพราะเคยทำงานในบริษัท Bayer รวมถึงปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาด้าน Food Ingredient ในบริษัท Haarmann&Reimer ซึ่งเป็นโรงงานผลิตกรดซิตริกที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสิ่งที่ทาง ITAP และบริษัท คาดหวังจากเขาก็คือ ทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ให้กับบุคลากรในโรงงาน”
ดร. เกชา เล่าให้ฟังว่า ในครั้งแรกที่ Mr.Solow เข้ามา (ต.ค. 45) เพื่อศึกษากระบวนการหมักที่บริษัทใช้อยู่ พร้อมทั้งร่วมในการออกแบบและปรับปรุงขบวนการผลิตกับผู้บริหารและบุคลากรของบริษัท และภายใต้การสนับสนุนจาก ITAP ทางบริษัทจึงได้ Mr.Solow เข้ามาร่วมสรุปผลการปรับปรุงทั้งหมดอีกครั้งหนึ่งเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา
“ต้องยอมรับว่า Mr.Solow เป็นผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจในเรื่องนี้อย่างแท้จริง เพราะจากสิ่งที่เขามาชี้ให้เราเห็นนั้น เขาสามารถอธิบายได้ว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร และผลที่ได้จากการปรับปรุงมันก็เป็นไปตามที่เขาพูดไว้ คือเขาบอกเราทั้ง “Know How’ และ ‘Know Why’ คือเขาไม่เพียงบอกเราว่ามันเกิดได้ ‘เพราะอะไร’ แต่เขายังอธิบายให้ฟังด้วยว่ามันเกิดได้ ‘อย่างไร’ ซึ่งประเด็นหลังสำคัญมากเพราะกระตุ้นให้พนักงานของเราเริ่ม ‘คิดได้’ ”
“เขามาสอนให้รู้ว่าปฏิกิริยาที่เกิดในถังมันเป็นอย่างไร จากเมื่อก่อนเราทำตามคู่มือ ทำตามตำรา ที่ให้กวนถังหมักหลังใส่เชื้อเพื่อให้ส่วนผสมเข้ากัน แต่ Mr.Solow ให้ความรู้ว่าในบางช่วงของปฏิกิริยาไม่ต้องมีการกวนก็ได้เพราะเชื้ออยู่ในระยะพักตัว ซึ่งการทีเราสามารถหยุดเครื่องกวนได้ในบางช่วงของการหมักนั้น ทำให้เราสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าเฉพาะจากการกวนถังหมัก ปีหนึ่งเกือบ 5 แสนบาท นอกจากนี้การเข้ามาปรับปรุงกระบวนการหมักยังทำให้เราได้สามารถควบคุมผลผลิตให้มีคุณภาพและปริมาณที่สม่ำเสมอมากขึ้นอีกด้วย อีกทั้งทำให้เราสามารถใช้เวลาในการหมักน้อยลงกว่าเดิม ซึ่งทั้งหมดนี้หมายถึงการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของบริษัทให้สูงขึ้นด้วย
หากจะวัดความสำเร็จ ของการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตให้สูงขึ้นจากความรู้ที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญ ITAP ด้วยยอดขาย ดร.เกชา ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทางบริษัทมียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในจำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นลูกค้าใหม่ ๆ ที่ยอมรับในคุณภาพของสินค้าของบริษัท
“ปัจจุบันเราสามารถผลิตกรดมะนาวได้เต็มกำลังการผลิต แต่ด้วยความพร้อมของบุคลากรในปัจจุบัน ระบบหมักแบบใหม่ที่บริษัทได้ร่วมพัฒนาร่วมกับ Mr.Solow เมื่อปีที่แล้ว บวกกับความเข้าใจในกระบวนการผลิตที่พนักงานของเราได้รับการถ่ายทอดและทดลองทำตลอด 2 ปีนั้น เราจึงได้มีขยายโรงงานออกไปอีก ที่จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกประมาณ 1 เท่าตัวในปีหน้า ซึ่งน่าจะทำให้เรามีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์”
นางสาววลัยรัตน์ จากโครงการ ITAP กล่าวเสริมว่า บริษัท ไทยซิตริก แอซิด จำกัด เป็นตัวอย่างที่ดีของภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงกระบวนการผลิต ด้วยความรู้และประสบการณ์จากผู้รู้จริง ซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการจะช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย ให้มีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้น ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ดีขึ้น พร้อม ๆ ไปกับการพัฒนาบุคลากรของตนเองให้มีศักยภาพในการทำงานที่สูงขึ้นไปพร้อมกัน
สำหรับภาคเอกชนรายใดต้องการขอรับการสนับสนุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยี สำหรับกิจการของท่าน สามารถขอรับรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2564-8000 ต่อ โครงการ ITAP หรือที่ www.nstda.or.th/itap
สื่อมวลชนที่ต้องการภาพหรือข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการITAP โทร.0-2298-0454--จบ--