กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--หอการค้าไทย
นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ตามที่หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ขอให้รัฐบาลชะลอการผลักดันแรงงานต่างด้าวออกไปอีกระยะหนึ่ง หลังจากวันที่ 14 ธันวาคม 2555 เนื่องจากจะถึงกำหนดระยะเวลาที่รัฐบาลจะผลักดันแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายออกนอกประเทศนั้น พร้อมทั้ง ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2555 เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับ และขอให้ชะลอมาตรการดังกล่าวออกไปก่อน พร้อมเปิดให้มีการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายจากทุกอุตสาหกรรม เพื่อรับการพิสูจน์สัญชาติให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือจนกว่าภาครัฐจะมีมาตรการที่เหมาะสมและส่งผลกระทบน้อยที่สุดมารองรับความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวนี้ คณะอนุกรรมการบริหารจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ได้มีมติเห็นชอบร่วมกับภาคเอกชน (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยจะผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเป็นกรณีพิเศษ เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อดำเนินการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามรูปแบบ MOU ระหว่างรัฐ และให้นายจ้างพาแรงงานไปขอรับหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) หรือ เอกสารรับรองบุคคล (Certificateof Identity) กับประเทศต้นทาง ให้สามารถใช้หลักฐานดังกล่าว ขอรับการตรวจลงตราและประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นเวลา 2 ปี และหากต้องการอยู่ต่อไปอีกเพื่อทำงานให้อยู่ได้อีกครั้งเดียวเป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี รวมเป็น 4 ปี นอกจากนั้น ยังขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ หรือนายจ้างที่ต้องการแรงงานต่างด้าวยื่นคำร้องขอจ้างแรงงานต่างด้าวพร้อมแบบคำร้องขอนำเข้าแรงงาน ใบโควตา (Demand Letter) และหลักฐานอื่น ตามที่กรมการจัดหางานกำหนดให้แล้วเสร็จใน 1 เดือน เพื่อดำเนินงานต่อไป ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯจะนำเสนอแนวทางข้างต้นเข้าพิจารณาต่อในคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งจะมีประชุมในวันนี้ เพื่อผลักดันเข้า ครม.ต่อไป
ในขณะนี้ กระทรวงแรงงาน กำลังอยู่ระหว่างการเจราจากับประเทศต้นทาง ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินงาน และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้เป็นลักษณะ One Stop Service ในประเทศไทย เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่คนงานและผู้ประกอบการมากที่สุด ในการพาแรงงานไปขอรับหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) รวมทั้งแรงงานทั้งหมดที่ดำเนินการผ่านแนวทางนี้ นายจ้าง/ผู้ประกอบการ จะต้องนำเข้าระบบประกันสังคมอย่างถูกต้อง โดยกระทรวงแรงงาน จะประสานงานสำนักงานประกันสังคมจะแก้ไขข้อติดขัดต่าง ๆ ให้ผู้ประกอบการที่ติดขัดสามารถดำเนินงานได้สะดวกและถูกต้อง
“หอการค้าไทยขอขอบคุณรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน ที่เข้าใจปัญหาและมองเห็นถึงความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ ซึ่งปัญหาแรงงานต่างด้าวนั้นเป็นปัญหาที่สะสมมานาน หากจะมีการแก้ไขให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในระยะยาวแล้ว จะต้องมีการหารือร่วมกันอย่างใก้ลชิดระหว่างภาครัฐและเอกชน” ต่อไป นายภูมินทร์กล่าว