กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--สปสช.
ผลงานเจ็บป่วยฉุกเฉิน 8 เดือน พบประชาชนเข้าถึงบริการ 12,845 ราย ในรพ.เอกชน 239 แห่ง สิทธิข้าราชการเข้าถึงในอัตราส่วนสูงสุด 121 คนต่อประชากร 100,000 คน จ่ายชดเชยแล้ว 205 ล้านบาท พื้นที่กทม.ให้บริการผู้ป่วยสูงสุด เผยแนวคิดเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุนให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ได้รับการรักษาทันที โดยเฉพาะอุบัติเหตุช่วงเทศกาลหยุดยาว ผู้ประสบเหตุฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตเข้าได้ทุกรพ.ที่อยู่ใกล้ ไม่ต้องสำรองจ่าย
นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถูกถามสิทธิ์ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว 3 กองทุน ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ผลการดำเนินการ 8 เดือน จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 โดย มีผู้ป่วยเข้าถึงบริการ 12,845 ราย จากรพ.เอกชน 239 แห่ง เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพ 5,912 ราย หรือร้อยละ 46.0 สิทธิข้าราชการ 5,590 รายหรือร้อยละ 43.5 สิทธิประกันสังคม 910 รายหรือร้อยละ 8 สิทธิข้าราชการท้องถิ่น/รัฐวิสาหกิจ/ผู้มีปัญหาสถานะสิทธิ 319 รายหรือร้อยละ 3.3 เมื่อพิจารณาแนวโน้มของสิทธิพบว่า สิทธิข้าราชการมีแนวโน้มเข้ารับบริการสูงขึ้นเรื่อยๆ
เลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า สำหรับประเภทการบริการนั้นแบ่งเป็นเข้ารับบริการผู้ป่วยนอกจำนวน 1,748 รายหรือร้อยละ 13.6 เข้ารับบริการผู้ป่วยในมีจำนวน 11,000 ราย หรือร้อยละ 85.6 โดยแยกเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนมีจำนวน 8,157 รายหรือร้อยละ 63.5 ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจำนวน 4,665 รายหรือร้อยละ 36.3 โดยอาการหรือโรคที่เข้ารับบริการส่วนใหญ่ คือ หัวใจล้มเหลว หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ติดเชื้อในกระแสเลือด หัวใจหยุดเต้น มีเลือดออกในสมอง เป็นต้น ขณะที่พื้นที่ที่ให้บริการสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 5,451 ราย หรือร้อยละ 42.4 โดยที่สปสช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยชำระเงินกลางแทน 3 กองทุน จ่ายเงินชดเชยแล้วจำนวน 10,352 ราย เป็นเงิน 205,404,774 บาท ที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการ
“สำหรับในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวปีใหม่ ซึ่งมีการเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก เมื่อประสบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตสามารถเข้ารักษาได้ทุกรพ.ที่อยู่ใกล้ โดยแต่ละรพ.ที่ให้การรักษาให้เบิกจ่ายมายังสปสช. ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นศูนย์กลาง ได้รับบริการเพื่อช่วยชีวิตและลดความพิการ โดยไม่ต้องถามสิทธิ์ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้เน้นในกลุ่มที่ผู้ป่วยวิกฤติ คือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติและเร่งด่วน เน้นบริการฉุกเฉินที่รพ.เอกชนนอกระบบ 3 กองทุนสุขภาพ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช.1330 หรือ สายด่วน 1669 ได้ทั่วประเทศ” เลขาธิการสปสช.กล่าว
ติดต่อ:
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) 02-1414000 email : newsnhso@gmail.com