กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--ขสมก.
บริษัทประกันภัยมอบเงินสินไหมทดแทน กรณี น.ศ.เอแบคพลัดตกรถร่วมบริการสาย 207
พร้อมนี้ ขสมก.ประกาศใช้มาตรการใหม่ลงโทษรถร่วมบริการรุนแรงเด็ดขาดยิ่งขึ้นแล้ว
นายวิโรจน์ นีละโยธิน หัวหน้ากองประชาสัมพันธ์ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ อาคารสำนักงานใหญ่ ขสมก.ห้วยขวาง บริษัทพาณิชย์การประกันภัยจำกัด โดยนายมนตรี ชินวรารักษ์ รองกรรมการผู้จัดการได้มอบเงินสินไหมทดแทน จำนวน 750,000 บาทให้กับทนายความของ น.ส.ปิยะธิดา โชติมนัส นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญที่พลัดตกจากรถร่วมบริการสาย 207 ถึงแก่ชีวิตเมื่อเร็วๆนี้ตามวงเงินประกันภัยการให้ความคุ้มครองที่ทางผู้ประกอบการรถเอกชนร่วมบริการทำประกันภัยไว้
โดยมีนายปกศักดิ์ เศรษฐบุตร ผู้อำนวยการ ขสมก.ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย ซึ่งเงินสินไหมทดแทนการช่วยเหลือครอบครัวของ น.ส.ปิยะธิดาฯ ตามวงเงินประกันภัยดังกล่าวเทียบไม่ได้กับการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุพลัดตกจากรถเมล์
ในครั้งนี้ ซึ่งหากทางบิดาหรือญาติของ น.ส.ปิยะธิดา เห็นว่าการชดใช้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์ยังขาดความเป็นธรรมไม่พอเพียงกับการสูญเสียสามารถเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มตามฐานานุรูปได้ ตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป ซึ่ง ขสมก.จะเป็นผู้ประสานงานให้ความร่วมมือดูแลคดีนี้ให้อย่างใกล้ชิด
หัวหน้ากองประชาสัมพันธ์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่าในส่วนของคดีอุบัติเหตุรถร่วมบริการสาย 85 เฉี่ยวชนอดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนปทุมคงคานางเอมอร สัตตบุศย์ อายุ 76 ปีที่พาหุรัดจนเสียชีวิตนั้นเรื่องอยู่ระหว่างการเจรจาชดใช้ค่าเสียหายที่ยังไม่มีข้อยุติและคดีพนักงานขับรถร่วมบริการสาย 109 ของบริษัทกรุงเทพมหานครขนส่งชนเสาไฟฟ้าที่ถนนรามคำแหงมีผู้โดยสารเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอีกส่วนหนึ่งนั้น ขณะนี้ผู้บาดเจ็บที่นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลกลับบ้านได้เกือบหมดแล้ว คงเหลือ 1 รายที่ยังรักษาตัวอยู่ที่ รพ.แพทย์ปัญญา โดยทางบริษัทกรุงเทพประกันภัยได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้รวมทั้งค่าเสียหายอื่นๆให้ทุกราย ส่วนผู้เสียชีวิตคือนายวิสุทธิ์ เจริญศรี อยู่ระหว่างการเจรจาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
หัวหน้ากองประชาสัมพันธ์ กล่าวในตอนท้ายว่าขณะนี้ ขสมก.ได้ปรับปรุงแก้ไขสัญญาการเข้าร่วม
เดินรถของเอกชนทุกรายใหม่ใช้บังคับแล้วตามนโยบายของนายนิกร จำนง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ผู้กำกับดูแล ขสมก.ที่ให้ ขสมก.ทบทวนสัญญาและใช้มาตรการลงโทษรถเอกชนร่วมบริการให้หนักและเด็ดขาดกรณี
ที่มีการฝ่าฝืนกระทำผิดสัญญา โดยเฉพาะในเรื่องอุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับผู้โดยสาร การละเลยไม่ใช้ประตูเปิด-ปิดอัตโนมัติเพื่อป้องกันผู้โดยสารพลัดตกจากรถ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นคดีอาญายอมความกันไม่ได้ต้องมีการลงโทษเด็ดขาดรุนแรง ตั้งแต่พักรถ งดปฎิบัติหน้าที่และยกเลิกสัญญาทันที ส่วนความผิดในด้านคุณภาพการให้บริการ เช่น ถูกร้องเรียนจากผู้โดยสารถือเป็นคดีแพ่งที่มีความรุนแรงน้อยกว่าสามารถลงโทษตามขั้นตอนได้ ตั้งแต่ตักเตือนและปรับ แต่หากทำผิดซ้ำบ่อยครั้งจะใช้มาตรการลงโทษถึงขั้นพักรถ และยกเลิกสัญญาได้เช่นกัน กรณีที่ทางผู้ประกอบการรถเอกชนร่วมบริการเห็นว่า ขสมก.ใช้มาตรการใหม่ลงโทษรุนแรงเกินไปสามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ได้ โดยมีตัวแทนจากบอร์ด ขสมก.เป็นประธานและตัวแทนจากกรมการขนส่งทางบก จาก ขสมก. จากผู้ประกอบการรถเอกชนร่วมบริการ ร่วมเป็นคณะกรรมการให้ความเป็นธรรมร่วมกัน--จบ--